การมีชีวิตสร้างให้คนเรามีความฝัน และการไปให้ถึงจุดหมายนั้นย่อมมีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป เหมือนน้องๆ กลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันเพื่อเริ่มต้นก้าวแรกของความฝัน ใช้ตัวตนและความชอบของแต่ละคนผสมผสานลงในผลงานเพลงอย่างสุดความสามารถ วงดนตรีที่เรากำลังจะพูดถึงนั้นเป็นวงที่มีชื่อว่า “Jelly Rocket” เป็นวงดนตรีผู้หญิง 3 คน ที่ดูจะห้าวๆ และยึดมั่นในความชอบของตัวเองเป็นที่สุด โดยสมาชิกภายในวงประกอบไปด้วย ปั้น-นลพรรณ อัมพุช ภัคธ-จุฑาภัคธ ตั้งไพบูลเวชกิจ และ โม-ชุติกาญจน์ อิสสระเสรี
“โมกับภัคธเรียนที่เดียวกันและชอบคุยกันเรื่องเพลง ส่วนปั้นกับภัคธเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยมัธยม แล้วพอดีปั้นอยากร้องเพลง ภัคธกับโมก็เล่นดนตรีอยู่แล้ว เลยชวนกันมาทำเล่นๆ ดู”
โมกับภัคธเรียนอยู่ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โมเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีดนตรี การอัดเสียง ส่วนภัคธเรียนเกี่ยวกับทฤษฏีดนตรีแจ๊ส เพลงที่ปล่อยออกมาจึงเรียกได้ว่าแทบจะทำเองตั้งแต่ต้นจนจบ โดยตำแหน่งภายในวงนั้นปั้นรับหน้าที่เป็นนักร้องนำ โม เป็นมือกีต้าร์ และภัคธเป็นมือคีย์บอร์ด กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในแบบที่ไม่เหมือนใคร
“ตอนแรกเราก็ทดลองกันอยู่ว่าจะไปแนวทางไหนดี ไม่อยากให้ทุกเพลงออกมาคล้ายกัน จริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการทำในช่วงนั้น แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากภัคธแต่งคอร์ด แบ่งท่อนของเพลง เนื้อร้องส่งต่อให้โมคิดและอัดเสียงกีต้าร์ แล้วส่งกันกลับไปกลับมาในคอมพิวเตอร์อีกหลายรอบ หลังจากนั้นปั้นจะมาออกแบบคอรัสและเสียงร้องอีกที หรือบางครั้งอยากได้อารมณ์แจมกัน ก็นัดเล่นในห้องซ้อม ซึ่งอารมณ์เพลงที่ได้ก็จะออกมาอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างกันออกไป”
เกือบหนึ่งเดือนเต็มๆ ที่ตัวเดโมเพลงจะถูกส่งกลับไปกลับมาจนเสร็จและได้เข้าห้องอัด เพลงแรกที่พวกเธอช่วยกันทำมีชื่อว่า How long ซึ่งอีกหนึ่งความพิเศษ คือ เป็นเพลงที่โมเลือกทำเป็น Production Thesis ก่อนจบเพื่อส่งอาจารย์ด้วย
“How long คือ เพลงที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของเรามากที่สุด เพราะปั้นได้ใส่เสียงประสานเข้าไปเยอะ และบางจังหวะมีส่วนเมโลดี้ของภัคธที่เด่นขึ้นมาผสานกับโมได้อย่างพอดิบพอดี เหมือนมีพื้นที่ให้ทุกคนได้ใส่ความเป็นตัวเองลงไปแล้วมันลงตัว และเป็นเพลงแรกที่ทำให้ทุกคนหันกลับมามองพวกเรา เรียกได้ว่าเป็นเพลงลูกรัก (หัวเราะ) แต่จริง ๆ ก็ชอบทุกเพลงที่ปล่อยออกไป เหมือนมีลูกหลายๆ คน
ปรากฏการณ์แชร์เพลง How long เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อเริ่มต้นจากเผยแพร่ในแฟนเพจเฟซบุ๊กของวง และฝากเพื่อนๆ ที่รู้จักช่วยกดแชร์ต่อไปเรื่อยๆ จนมีแฟนเพจเพลงดังและแฟนเพจเพลงสากลได้แชร์เพลงนี้ต่อและเป็นที่รู้จักในที่สุด
“ตอนแรกเราตื่นเต้นสุดๆ กดเข้าไปดูบ่อยมากว่ามีคนฟังเพลงของเราเท่าไหร่แล้ว พอเริ่มมีคนติดตามผลงาน ถึงจะยังไม่เยอะ แต่มันก็มีความสุขแล้วก็ดีใจที่มีคนชอบและมองเห็นในสิ่งที่เราทำ”
ด้วยความสนุกกับงานที่ได้ใส่ความคิดและตัวตนลงไป และอยากให้ทุกคนรักในผลงานที่พวกเธอตั้งใจทำออกไปก่อนมากกว่า แม้จะมีค่ายเพลงเริ่มติดต่อเข้ามาบ้าง แต่พวกเธอก็ยังไม่เลือกที่จะเซ็นสัญญากับค่ายไหนในขณะนี้
“พวกเราอยากลองกัดฟันสู้กันไปก่อนมากกว่า อยากลองทำทุกอย่างด้วยตัวเอง อยากลองยืนได้ด้วยผลงานของเราเองก่อนจะเข้าไปเสนองานในค่าย คิดว่าเค้าน่าจะฟังและยอมรับเรามากขึ้น แต่จริงๆ เราก็ยังไม่มีความพร้อมขนาดนั้นด้วย เพราะตอนนี้ทุกคนยังมีหน้าที่ต้องเรียนหนังสือ”
และด้วยเป้าหมายที่ตั้งกันไว้แต่แรกว่า อยากจะทำเป็นเพลงๆ ไปและรวมออกมาครบจนเป็นอัลบั้ม จึงเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ Jelly Rocket อยากจะทำให้สำเร็จก่อน
“จริงๆ ถ้ามีเงินอยากจะเปิดค่ายเองเลยนะ เพราะเรารู้สึกว่าเราสามารถทำเองได้จนจบครบวงจร ส่วนงานขายและโปรโมทก็ยกให้ปั้นเป็นคนทำ”โมหัวเราะยาว
หลังจากที่ได้เปิดตัวด้วยเพลง How long ไปแล้ว วง Jelly Rocket เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นและผ่านงานแสดงคอนเสิร์ตอีกหลายงาน และจากการซ้อมมาอย่างหนักหลังคอนเสิร์ตแต่ล่ะครั้งที่วง Jelly Rocket ขึ้นจึงได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี แต่พวกเธอก็ตั้งใจเอาไว้ว่าครั้งต่อไปจะทำออกมาให้ดีกว่านี้และนำข้อผิดพลาดจากครั้งแรกนี้ไปแก้ไข ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องบอกว่าแต่ละคนใช้เวลาฝึกฝนกันมาไม่ใช่น้อย
“โมชอบหาเพลงฟังเยอะๆ เพราะรู้สึกว่าการฟังเพลงเยอะๆ มันช่วยทำให้เราเห็นโลกได้มากขึ้น การจะสร้างผลงานที่ดีในยุคนี้มันต้องอาศัยอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่เวลาระยะหนึ่งที่เราอยากจะทำ แล้วเราไปหาฟังแล้วมันจะได้เลย มันต้องใช้เวลาซึบซับเข้าไปอีก ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วคุณค่าในเพลงที่เราต้องการส่งออกมามันจะไม่ลึกซึ้ง”
“ของภัคธคือซ้อมหนักมาก อย่างช่วงที่เครียดที่สุดคือตอนมัธยมปลายเพราะเรียนคลาสสิคเราต้องซ้อมหูดับตับไหม้เลย พอมาเรียนแจ๊สก็ซ้อมน้อยลงหน่อย แต่จะเพิ่มการเรียนรู้ด้านแนวคิดหรือสำเนียงมากกว่า ว่าเค้าเล่นโน้ตอะไรทำไมถึงออกมาให้อารมณ์แบบนี้ ดนตรีแต่ละแนวต้องเล่นแตกต่างกันยังไง เวลาฝึกจะฝึกจากเพลงที่เราชอบจริงๆ ศึกษาว่าเค้าใช้อะไรบ้าง ให้เสียงออกมาเป็นยังไง แล้วเอามาปรับใช้อะไรได้บ้าง”
“ส่วนปั้นเองก็เริ่มร้องเพลงตั้งแต่ 3 ขวบ เพราะคุณพ่อค่อนข้างอารมณ์ศิลปินเลยชอบเปิดเพลงให้ฟัง ก็เลยชอบร้องเพลงตั้งแต่เด็กๆ เคยไปเข้าชมรมคอรัสตั้งแต่อยู่ประถม พอมัธยมก็ยังมีเรียนร้องเพลงอยู่บ้าง และลองออกมาร้องตามร้านจริงๆ ซึ่งอารมณ์มันไม่เหมือนกัน แต่ก็ชอบที่จะร้องที่ร้าน เพราะรู้สึกว่าได้ประสบการณ์และทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นและช่วงนี้ก็เริ่มหันมาออกกำลังกายด้วยเพราะรู้สึกว่ามีส่วนช่วยให้เราออกเสียงการร้องได้ดีขึ้น ถ้าสุขภาพเราแข็งแรง”
นี่เป็นอีกหนึ่งวงดนตรีนี่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความกล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ความมั่นใจในแนวทางและความมุ่งมั่นที่พร้อมจะทำความฝันให้สำเร็จ และเมื่อบทสนทนาระหว่างเรากับวง Jelly Rocket มาถึงช่วงสุดท้าย เราได้ลองถามสมาชิกในวงว่าถ้าเปรียบเทียบตัวเองเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งแล้ว คิดว่าตัวเองน่าจะเป็นสัตว์อะไร สมาชิกทั้ง 3 ของวง Jelly Rocket นิ่งไปซักพักราวกับครุ่นคิดก่อนที่ภัคธจะตอบมาเป็นคนแรก
“ภัคธคิดว่าน่าจะเป็นไดโนเสาร์ เพราะว่าหน้าเหมือน” ภัคธพูดพลางหัวเราะ
“โมขอเป็นเพนกวินละกัน เพราะชอบเวลามันเดินดูน่ารักดี”โมตอบด้วยสีหน้ายิ้มๆ ก่อนทั้งโมและภัคธจะหันหน้าไปมองปั้นที่กำลังจะตอบเป็นคนสุดท้าย ปั้นนั่งคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนที่จะตอบออกมว่า
“ปั้นอยากเป็นเสือ เพราะเสือมันไม่โดนใครกิน”
แล้วเราทุกคนก็จบบทสนทนาวันนั้นด้วยเสียงหัวเราะพร้อมๆ กัน