เชื่อว่าหลายคนคงจำไม่ได้แล้วว่าเราเข้าห้องสมุดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
เพราะภาพจำของห้องสมุดทำให้เรานึกถึงเรื่องของการเรียน การทำรายงาน การค้นคว้า ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่ว่าใครต่างก็คงอยากหลีกหนีไปให้ไกล ดังนั้นถ้าเกิดว่าสุดสัปดาห์เราชวนใครไปห้องสมุดคงมีแต่คนส่ายหน้าปฏิเสธแบบไม่ต้องคิด
แต่ “มาหาสมุด” ห้องสมุดแนวใหม่ที่ คุณนัท – ณัฐพงษ์ เนียมนัด ได้ให้คำนิยามเอาไว้ว่าอยากให้เป็น “คาเฟ่ห้องสมุด” (Library Cafe) อาจจะทำให้มุมมองของคุณต่อห้องสมุดเปลี่ยนไปจากเดิม
มาหาสมุดเป็นหนึ่งในร้านของโครงการบ้านข้างวัด ซึ่งเป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างชุมชนเล็กๆ ที่เกื้อกูลกันและกัน และเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริเวณซอยวัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ มาหาสมุดก็เป็นหนึ่งในร้านในโครงการนี้ ซึ่งคุณนัทบอกกับเราว่าอยากให้ที่นี่เป็นห้องสมุดที่เป็นมิตรกับคนทั่วไปและเป็นจุดเริ่มต้นให้คนได้อ่านหนังสือมากขึ้น
“ต้องบอกก่อนว่าผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ด้วยสิ่งนี้เองทำให้เรารู้สึกว่ามีความแตกต่างอะไรบางอย่างจากคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องของกระบวนการคิดและมุมมองโลกที่กว้างขึ้น และคิดว่ามันเป็นแนวทางที่ดีที่อยากให้คนอื่นเข้าใจ เรียกง่ายๆ ว่าอ่านหนังสือแล้วมันดีว่าอย่างนั้นเถอะ เราเลยรู้สึกอยากให้คนอ่านหนังสือกันมากขึ้น”
ด้วยแรงขับเคลื่อนภายในใจประจวบเหมาะกับถึงช่วงเวลาที่เขารู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานประจำภายในเมืองพอดี เมื่อมีพี่ที่รู้จักกันชักชวนให้มาลองทำห้องสมุดที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เขาไม่รู้สึกลังเลที่จะตัดสินใจเลยแม้แต่น้อย
“จังหวะที่ตัดสินใจลาออก มีพี่ที่รู้จักชวนมาทำห้องสมุด สนใจไหม ชวนขึ้นมาอยู่ที่เชียงใหม่”คุณนัทเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งมาหาสมุด “แม้ว่าอาจจะยังไม่มั่นใจมาก แต่ในเมื่อเป็นสิ่งที่เราอยากทำมาโดยตลอด และไม่รู้ว่าในชีวิตนี้จะมีโอกาสได้ทำหรือเปล่า เมื่อโอกาสมันได้พุ่งชนมาหาเราและเราพร้อมด้วย เราจึงตัดสินใจลงมือทำ”
คุณนัทยืนยันกับเราว่า มาหาสมุด ทำหน้าที่หลักเป็นห้องสมุดที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ ขอแค่อยากอ่านหนังสือหรือได้อยู่ใกล้ๆ ส่วนเครื่องดื่มนั้นเป็นส่วนเสริมเพื่อให้ทางร้านสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่ถ้าใครอยากมาอ่านหนังสือเฉยๆ โดยที่ไม่ต้องสั่งเครื่องดื่มอะไรก็ได้เช่นกัน
“เมื่อตอนสมัยเป็นเด็ก ผมอยากอ่านหนังสือ แต่เราก็ได้ค่าขนมไม่มาก เวลาอยากได้หนังสือซักเล่มก็ต้องเก็บเงินนานๆ เราเลยมีความฝังใจมาตั้งแต่เด็กว่าคนที่อยากอ่านหนังสือก็ควรต้องได้อ่านหนังสือสิ”คุณนัทหัวเราะ “กลายเป็นความฝันเล็กๆ ที่จะได้เปิดห้องสมุดให้คนอื่นเข้ามาอ่านหนังสือที่ชอบ และได้อ่านแบบฟรีๆ”
แต่ด้วยความที่คุณนัทเรียนจบทางด้านการออกแบบภายใน ทำให้เขาเลือกที่จะก้าวข้ามภาพลักษณ์เดิมๆ ของห้องสมุดที่เราคุ้นตากัน เปลี่ยนให้มาหาสมุดเป็นห้องสมุดแนวใหม่ที่ทันสมัยและเป็นกันเองกับคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น
“เราคาดหวังว่าที่นี่คือห้องสมุดที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้ามาใช้ด้วยกันได้ อยากให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมาพบปะและอ่านหนังสือด้วยกันอย่างอบอุ่น ให้ความรู้สึกเหมือนไปบ้านเพื่อน บ้านพี่ แล้วเราสามารถนั่งหรือนอนกลิ้งเกลือกไปมาได้ ไม่ใช่เป็นร้านที่ฝั่งหนึ่งคือลูกค้า อีกฝั่งหนึ่งคือคนขาย มีคนเข้ามาใช้กับเจ้าของ เราอยากที่นี่ให้มีบรรยากาศกันเองมากกว่า แต่ก็ยังแฝงไปด้วยความสวยงามทางด้านดีไซน์ด้วย”
และเมื่อเรามองไปที่ภายในของมาหาสมุดก็พบว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ จากชั้นหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยหนังสืออันเป็นจุดเด่นแล้ว ภายในห้องสมุดแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยเบาะนั่งนุ่มสบายต้อนรับนักอ่านที่ทยอยเข้ามาแวะเวียนแม้ว่าจะยังเป็นช่วงเช้าของวัน ซึ่งคุณนัทได้ย้ำกับเราอีกครั้งว่าที่นี่คือห้องสมุด ขอแค่อยากอ่านหนังสือก็สามารถเข้ามาอ่านได้เลย
“คนที่ตั้งใจมาอ่านหนังสือเรายินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่ง สามารถเข้ามาอ่านได้เลย แต่ด้วยความที่เราต้องการให้มีการเพิ่มคนอ่าน คนอ่านหน้าใหม่ คนที่ไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อน เราอยากให้เขาเข้ามาได้สัมผัสกับหนังสือ ได้พบเจอหนังสือ และรายล้อมไปด้วยหนังสือ ทำให้รู้สึกว่าหนังสือไม่ใช่เรื่องไกลตัว” นอกจากกลุ่มนักอ่านที่ชอบการอ่านอยู่แล้ว คุณนัทยังมองไปการสร้างกลุ่มนักอ่านใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย “คุณสามารถมานั่งเล่น มาทำงาน มาคุยกับเพื่อน แต่อยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยหนังสือ ให้เขาซึมซับและอยากลองอ่านหนังสือขึ้นมาบ้าง ทำให้หนังสือไม่ได้แปลกแยกไปจากชีวิตปกติ”
หนังสือที่อยู่ภายในห้องสมุดแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่คุณนัทสะสมและอยากแนะนำให้นักอ่านทุกท่านได้อ่านกัน นอกจากนี้ยังมีหนังสือจากภายนอกอีกหลากหลายแนวที่จะช่วยเสริมสร้างแนวคิดและเปิดมุมมองที่แตกต่างกันออกไป เหมือนดั่งเวลาที่เรารับประทานอาหารต้องทานให้ครบ 5 หมู่ ร่างกายจึงจะแข็งแรง การอ่านหนังสือก็ไม่ต่างกัน
“เราพยายามเลือกหนังสือให้เหมาะกับคนที่เข้ามา บางเล่มอาจเป็นหนังสือเก่าแต่ถ้าเห็นว่ามีผู้ใหญ่เข้ามาใช้บริการเราก็จะเสริมไว้ให้เพื่อให้เขารู้สึกคุ้นเคย บางทีก็เป็นหนังสือภาพที่อ่านง่ายๆ เพื่อให้เด็กที่เข้ามารอเพื่อนเห็นแล้วรู้สึกว่าภาพสวยดี แถมยังอ่านง่าย เป็นการให้เขารู้สึกดีกับหนังสือในอีกทางหนึ่ง”
“และยังมีหนังสือที่ได้รับรางวัล เราเองตั้งใจไว้แล้วว่าอยากให้มีชั้นหนึ่งที่เป็นชั้นหนังสือซีไรท์ เพื่อให้บางคนที่ยังไม่มั่นใจว่าจะอ่านอะไรดีมั่นใจได้ว่าหนังสือที่เขาหยิบอ่านนั้นถูกการันตีคุณภาพด้วยการเป็นหนังสือซีไรท์ ทั้งหมดนี้เราพยายามสร้างความประทับใจให้กับคนที่ยังไม่เคยอ่านและพยายามหาหนังสือที่หลากหลายให้กับคนที่อ่านอยู่แล้วเข้าด้วยกัน”
คุณนัทบอกกับเราอีกว่าความฝันของคนอ่านหนังสือมักมีอยู่ไม่กี่แบบ อาจเป็นการได้เป็นนักเขียน บรรณารักษ์ ได้มีร้านขายหนังสือของตนเอง ซึ่งสำหรับเขาแล้วห้องสมุด “มาหาสมุด” แห่งนี้เป็นความฝันที่เขาอยากทำมาโดยตลอด
เมื่อคนอ่านหนังสือมาเจอกับห้องสมุดที่เข้าใจคนอ่านหนังสือ นับว่าเป็นย่างก้าวใหม่ที่ดีของวงการนักอ่านไทยที่จะได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอีกครั้ง โดยส่วนตัวคุณนัทยังคงเชื่อมั่นในความเป็นรูปเล่มของหนังสือยุคเก่าว่าจะยังไม่มีวันตายจากไป แม้ว่าในตอนนี้จะมีสื่อดิจิตอลคอนเทนต์มากมายรุกคืบเข้ามาอยู่ก็ตาม เพราะเสน่ห์ของหน้ากระดาษและเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าโดยการเรียบเรียงมาอย่างดีนั้นไม่มีทางที่สื่อไหนจะสามารถลอกเลียนแบบได้
ในเมื่อห้องสมุดก็มีแล้ว หนังสือก็พร้อมแล้ว ดังนั้นโจทย์สุดท้ายคงอยู่ที่ตัวเราแล้วกระมัง
ว่าเราพร้อมจะเริ่มต้น “อ่าน” เมื่อไหร่ดี