Published on ISSUE 3
ร้อยโท นพพร วรภาพ ผู้บังคับกองร้อยสุนัขยุทธวิธีที่ 3 กับเรื่องราวของฮีโร่ 4 ขา ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้

Be the Hero

ร้อยโท นพพร วรภาพ ผู้บังคับกองร้อยสุนัขยุทธวิธีที่ 3 กับเรื่องราวของฮีโร่ 4 ขา ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้

 

“สำหรับผมเขาเป็นมากกว่าเพื่อน”

ร้อยโท นพพร วรภาพ พูดกับพวกเราด้วยน้ำเสียงจริงจังหลังจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกัน เมื่อทางทีมงาน Howl Magazine ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมและถ่ายภาพบรรยากาศภายในกองร้อยสุนัขยุทธวิธีที่ 3 ในจังหวัดนครปฐม ที่ท่านกำลังปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับกองร้อยอยู่

เชื่อว่าหลายท่านโดยเฉพาะผู้ชายต้องเคยผ่านการเข้าไปในค่ายทหารมาแล้ว เราอาจคุ้นภาพความเป็นระเบียบและความองอาจของเหล่าผู้ที่ได้ชื่อว่ารั้วของชาติ แต่ในคราวนี้ภาพในกองร้องสุนัขยุทธวิธีที่ 3 แตกต่างจากที่เคยเห็นตอนสมัยเรียน รด. หรือ ทหารเกณฑ์สักเล็กน้อย เพราะภายในกองร้อยแห่งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ทหารที่เป็นคนอย่างเดียว แต่ยังมีสุนัขทหารที่กล้าหาญและแสนรู้อยู่ด้วย

ที่คงต้องยอมรับว่าแม้จะรู้จักและเคยเห็นมาบ้าง แต่เราก็ยังรู้เรื่องราวเกี่ยวกับฮีโร่ 4 ขา เหล่านี้น้อยเหลือเกิน

“โดยทั่วไปแล้วภารกิจของสุนัขทหาร คือ สนับสนุนหน่วยทหารในการรบ ด้วยการลาดตระเวน สะกดรอย หาทุ่นระเบิด กับระเบิด การเฝ้าระวังความปลอดภัยของที่ตั้งทหารและยุทโธปกรณ์สำคัญ รวมททั้งการตรวจค้นยาเสพติดและการค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัยในปัจจุบันด้วย”ร้อยโทนพพรเล่าเราฟังถึงภารกิจหน้าที่ของสุนัขทหารในปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้และไม่เคยรู้

“หน่วยใช้สุนัขทหารของกองทัพบก คือ กองพันสุนัขทหาร ที่ตั้งอยู่ที่เขตหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีผู้บังคับกองพันคือ พันโท ประภาส ศรีประทุม ขึ้นกับกรมการสัตว์ทหารบก โดยมี พลตรี ชาติชาย อ่อนน่วม ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมการสัตว์ทหารบก”

ในปัจจุบัน กองพันสุนัขทหารจะส่งกำลังพล 410 นาย สุนัขทหาร 255 ตัว ไปปฏิบัติงานในแผนงานต่างๆ ทั้งแผนงานป้องกันประเทศ 7 กองกำลัง แผนงานรักษาความมั่นคงภายใน จำนวน 1 กองร้อยลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จริงในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชน และการจัดกำลังในการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งทางทหารที่สำคัญ เช่น คลังอาวุธยุทโธปกรณ์ กองบัญาชาการต่างๆ และสนามบินเป็นต้น

แม้เรียกรวมๆ ว่า สุนัขทหาร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสุนัขทุกพันธุ์จะสามารถนำมาฝึกเป็นสุนัขทหารได้ ทางท่านร้อยโท นพพร วรภาพ ได้บอกกับเราว่าสายพันธุ์หลักๆ ที่ทางกองทัพเลือกมีอยู่ 4 สายพันธุ์คือ เยอรมัน เชปเพิร์ด ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ร็อตไวเลอร์ และ โดเบอร์แมน ฟินเชอร์ เนื่องจากเป็นสุนัขที่ฉลาด อดทน และปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างเคร่งครัด

“สุนัขทั้ง 4 สายพันธุ์นี้เป็นสุนัขที่ทางกองทัพไทยนิยมนำมาฝึกเป็นสุนัขทหารในหน้าที่ต่างๆ ตามคุณลักษณะของสายพันธุ์นั้นๆ แต่สุนัขที่สามารถฝึกเพื่อใช้งานได้ในทุกหน้าที่คือสุนัขพันธุ์เยอรมัน เชปเพิร์ด ซึ่งมีความสามารถรอบด้าน สามารถฝึกเป็นได้ทั้งหน่วยลาดตระเวน สะกดรอย หรือค้นหาวัตถุระเบิดก็ได้ ทำให้สุนัขทหารส่วนใหญ่ที่คนเห็นเป็นสุนัขพันธุ์นี้นั่นเอง”

จากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีและทำงานเกี่ยวกับสุนัขทหารมานาน ทำให้ร้อยโท นพพร บอกกับเราว่าท่านมองพวกเขาเป็นมากกว่าแค่สุนัขหรือเพื่อนร่วมงาน สำหรับท่านแล้วพวกเขาเป็นเพื่อนตาย หรือบางครั้งเป็นเหมือนสมาชิกครอบครัวคนหนึ่งเลยทีเดียว

“เขาไม่เคยโกหกเราสักครั้ง”ร้อยโท นพพร เอ่ยด้วยความรู้สึกผูกพันพลางลูบหัวสุนัขตัวหนึ่งที่เข้ามาใกล้ๆ เราตอนที่พูดคุยกัน

“ผู้บังคับสุนัขทหาร คือคนที่ต้องอยู่กับสุนัข คลุกคลีอยู่กับสุนัข ผมเชื่อว่าทุกคนที่ทำงานนี้ต้องมีความรักในสุนัขอย่างแน่นอน เพราะสุนัขเป็นสัตว์ที่พูดไม่ได้ ไม่เคยโกหก และมีความซื่อสัตย์กับเจ้าของ มีความซื่อสัตย์ถึงขนาดตายแทนกันได้ ในการทำงานเราต้องอาศัยสุนัข เป็นเพื่อนตายกัน”

“ถ้าถามถึงความประทับใจกับพวกเขาแล้ว ผมคงไม่สามารถสื่อออกมาเป็นคำพูดได้ เพราะมันเป็นเรื่องของความรู้สึกและความผูกพันที่มีต่อกันมานานมากกว่า เป็นเหมือนความเชื่อใจที่ทั้งเราและเขาต่างก็ฝากชีวิตไว้ซึ่งกันและกัน เรากินนอนอยู่ด้วยกัน เป็นเหมือนกับครอบครัวเดียวกัน”

เมื่อฟังดังนี้แล้ว ทำให้เราคิดขึ้นมาได้ว่า บางทีคำว่า “ฮีโร่” ที่เราพูดถึงในเล่มนี้อาจจะไม่ได้หมายถึงสุนัขเพียงแค่อย่างเดียว แต่คงต้องหมายถึงเหล่าทหารบังคับสุนัขที่ร่วมใช้ชีวิตและเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาด้วยเช่นกัน  เพราะเราเชื่อว่าสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและความเชื่อมั่นที่ไม่เคยคลอนแคลนที่มีให้กันระหว่างทหารและสุนัขนั้น

คือความลับของการเป็นฮีโร่นั่นเอง