ความฝันของคุณคืออะไร
เชื่อว่าเป็นคำถามง่ายๆ ที่ตอบยาก ภาพความฝันในหัวของหลายคนอาจจะชัดเจนมาตั้งแต่แรก แต่หลายคนอาจจะยังเป็นภาพร่างที่ไม่แน่ชัด ในขณะที่ความฝันของใครหลายคนเป็นเรื่องใหญ่โต แต่ความฝันของอีกหลายคนก็เป็นเรื่องสุดแสนธรรมดาสามัญ
แต่ถ้าให้บอกเล่าถึงความฝันของ คุณชูท-สิริวัฒน์ กุศลเลิศจริยา อดีตนักออกแบบที่ปัจจุบันได้ออกมาเปิด “ร้านคำนำ” ร้านหนังสืออิสระอย่างเต็มตัวแล้ว เราคงบอกว่ามันเป็นส่วนผสมของความฝันที่ลงตัว
ใจกลางอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ห่างออกมาจากพระปฐมเจดีย์ ไม่ไกลนัก ในซอยเล็กๆ ที่ถ้าใครไม่คุ้นทางอาจเลยไปได้โดยง่าย แต่ใครจะรู้ว่าที่ปลายทางซอยแคบๆ นี้ จะมีบ้านไม้เรือนไทยขนาดใหญ่ในสวนอันร่มรื่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน “คำนำ” ร้านหนังสืออิสระของคุณชูทนั่นเอง
แต่ครั้นจะบอกว่าเป็นร้านหนังสืออย่างเดียวก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะที่ร้านคำนำแห่งนี้มีให้บริการเครื่องดื่ม ขนม และอาหารทำเองสำหรับใครที่อยากมาพักผ่อนภายในร้านอีกด้วย เหมือนกับความตั้งใจของคุณชูทที่อยากให้ที่นี่ไม่ใช่แค่ร้านหนังสือเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นคอมมูนิตี้ที่มีชีวิต มีการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง
“ผมมีฝันอยากสร้างพื้นที่ที่ได้มารวมตัวกัน เป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ มีหนังสือ มีกาแฟ ดังนั้นจึงมาลงตัวที่ร้านหนังสือละกัน เราชอบกิจกรรมแบบนี้ ชอบบรรยากาศแบบนี้ เราอยากให้มีพื้นที่แบบนี้ในเมืองไทยให้มากขึ้น”
เมื่อความฝันและความตั้งใจมาพบกันเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนแล้ว คุณชูทจึงคุยกับ คุณหมี-ภาสรรค์ เชี่ยวจินดากานต์ รุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยที่มีความชอบคล้ายคลึงกันเพื่อมาร่วมหุ้นในการเปิดร้านคำนำ หลังจากที่ตระเวนเลือกโลเคชั่นอยู่หลายแห่ง แต่สุดท้ายทั้งสองคนก็มาตกหลุมรักบ้านเรือนไทยที่นครปฐมนี้
“ตอนที่เราคุยกันจนความฝันของเราสองคนตกผลึกแล้ว ก็ตกลงกันว่าได้เวลาทำเสียที เพราะถ้าไม่เริ่มตอนนี้คงไม่มีโอกาสเริ่มอีกแล้ว” คุณชูทเล่า “ตอนแรกมองว่าอยากเป็นร้านหนังสือ และมีบริเวณพอที่จะทำกิจกรรมร่วมกันได้ด้วย เพราะผมมองว่าหนังสือเป็นตัวพื้นฐานของทุกอย่าง สามารถอยู่ร่วมกับกิจกรรมอะไรก็ได้ จึงอยากให้เป็นร้านหนังสือที่มีกิจกรรมหลากหลาย อย่างร้านกาแฟด้วย”
แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นร้านหนังสือฉบับฟิวชั่น ทำให้เมื่อครั้งเปิดร้านใหม่ๆ ก็ยังมีคนสับสนเรื่องแนวทางของคำนำว่าเป็นร้านหนังสือหรือร้านกาแฟกันแน่ แต่คุณชูทยังคงมั่นใจในแนวทางของตนเองที่เชื่อว่าหากมีมุมให้ได้พักผ่อน ได้ทานของอร่อยๆ แล้วจะทำให้สนิทสนมและคุยกันมากขึ้น จนตอนนี้แนวทางที่ว่านั้นเริ่มชัดเจนขึ้นแล้ว สังเกตได้จากตอนที่เราสัมภาษณ์ ภายในร้านมีคนมานั่งอ่านหนังสือและชิมกาแฟ รวมไปถึงพูดคุยกันอย่างมีชีวิตชีวา
แม้จะมีมุมกาแฟและอาหาร แต่ร้านคำนำก็ยังให้ความสำคัญกับหนังสือที่วางขายในร้านเป็นอันดับต้นๆ ด้วยความที่ทั้งเจ้าของร้านทั้ง 2 คนเป็นนักอ่านตัวยง ทำให้การเลือกเฟ้นหนังสือที่มาขายภายในร้านนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้น มีหนังสือที่หาซื้อยากทั้งหมวดการเมือง ปรัชญา และวรรณกรรม ซึ่งสำหรับคนรักหนังสือแล้วคงบอกได้แค่ว่านี่มันเป็นสวรรค์ชัดๆ
“ด้วยความเป็นร้านหนังสืออิสระเราเลือกหนังสือเองได้ ไม่ต้องเกรงใจใคร เราเลยเลือกหนังสือที่เราชอบและคิดว่าดีเสียส่วนใหญ่”และเมื่อเราสำรวจชั้นหนังสือก็เป็นไปอย่างที่คุณชูทว่าจริงๆ “นอกจากหนังสือแล้ว ผมคิดว่าร้านหนังสือที่ดีควรมีเจ้าของหรือคนขายสามารถแนะนำหนังสือในร้านให้คนอ่านได้ด้วย ซึ่งในร้านคำนำมีพี่หมีที่อ่านหนังสือมามากเป็นคนคอยแนะนำหนังสือให้นักอ่านที่สนใจได้ ซึ่งผมอยากให้เป็นร้านหนังสือแบบนั้น มากกว่าเป็นร้านหนังสือที่มีไว้บรรจุหนังสือ และคนขายก็ไม่รู้จักหนังสือในชั้นเลย”
แต่ในยุคปัจจุบันที่การอ่านดูเหมือนจะย้ายที่อยู่จากกระดาษสู่หน้าจอ จากหน้าหนังสือสู่สเตตัสเฟซบุ๊กแล้ว ใครหลายคนคงมองว่าการเปิดร้านหนังสือในยุคดิจิตอลกำลังมาแรงเหลือเกินนี้คงไม่ต่างอะไรกับการเอาเรือไปขวางน้ำเชี่ยว นักการตลาดหลายคนถึงกับปรามาสไว้ว่าร้านหนังสือกำลังจะตายในอีกไม่ช้าเสียด้วยซ้ำ แต่พอเราถามคุณชูทถึงเรื่องความอยู่รอดของร้านหนังสือในยุคนี้ ชายร่างใหญ่กลับหัวเราะร่า
“อยากเล่าว่าตอนที่กำลังจะเปิดร้าน เราติดต่อทางสำนักพิมพ์เพื่อนำหนังสือมาลงชั้น เขาก็แสดงความเป็นห่วงเราว่าจะเปิดจริงๆ เหรอ อย่าเพิ่งเปิดเลย” พี่ชูทพูดจนทำเราหัวเราะกันทั้งวง “แต่ถ้าถามผมแล้ว ส่วนตัวลึกๆ เชื่อว่าร้านหนังสือจะไม่ตาย แต่ถ้าคนหวังจะร่ำรวยด้วยการเปิดร้านหนังสือ ผมว่ามันคงไม่ใช่ แต่ถึงไม่ตายเราก็ต้องปรับตัวตามยุคสมัยด้วย อย่างร้านคำนำถ้าเอาแค่รายได้จากหนังสืออย่างเดียวมาหล่อเลี้ยงทั้งร้านตอนนี้คงต้องบอกเลยว่ายาก ต้องเอาส่วนอื่นอย่างกาแฟ ขนม อาหารมาช่วยหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน แต่ในช่วงระยะเวลาปีกว่าๆ ที่ได้ทำร้านคำนำแห่งนี้มา ผมได้ยินข่าวว่ามีร้านหนังสือหลายร้านกำลังจะปิดตัวลง ในขณะที่อีกหลายร้านก็กำลังจะเปิดตัวขึ้นเช่นกัน ดังนั้นผมเชื่อว่าไม่ตายหรอก แต่ก็ต้องเอาชีวิตรอดต่อไป”
พี่ชูทยังบอกอีกว่าเขาเชื่อว่าหนังสือที่เป็นเล่มยังคงมีเสน่ห์ที่หาของเทียบเคียงยาก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเข้ามาของสิ่งพิมพ์ออนไลน์อย่าง E-Book แล้วก็ตาม แต่ถึงกระนั้นหากเป็นนักอ่านแล้วก็ยังคงถวิลหาความรู้สึกจากรูปเล่มหน้าหนังสืออยู่ดี
“ผมไม่เคยอ่าน E-book นะ E-Magazine ก็ไม่เคย”พี่ชูทพูดตลกหน้าตายจนเราหัวเราะครืนกันอีกครั้ง เพราะ Howl ของเราเองก็เป็น E-Magazine เช่นกัน “จริงอยู่ที่เราคงต้องยอมรับว่าหนังสือก็อาจจะล้าสมัยไปตามกาลเวลา แต่เราก็ต้องยอมรับว่าสินค้าบางอย่างไม่ว่าในยุคสมัยไหนก็ยังคงอยู่ หนังสือดิจิตอลในวันนี้อาจจะกำลังมาแรงก็จริง แต่ก็เชื่อว่าหนังสือที่เป็นเล่มกับหนังสือในหน้าจอนั้นไม่เหมือนกัน อาจเป็นเรื่องของรูปลักษณ์และผิวสัมผัสที่แตกต่าง ความสะดวกในการพกพาและการอ่าน ซึ่งสำหรับผมมองว่าแต่ละอย่างก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป”
ปัจจุบันร้านคำนำได้เปิดมาเป็นระยะเวลาปีกว่าแล้ว เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่ประทับใจนับตั้งแต่เปิดร้านมา คุณชูทบอกว่าการที่ได้เห็นครอบครัวที่มีคนหลายช่วงวัยมาใช้เวลาร่วมกันที่ร้านเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความสุข แต่เหนือสิ่งอื่นใดเลยการที่ได้เปิดร้านคำนำสำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่เขาและคุณหมีมีความสุขที่สุดแล้ว
“การฝันว่าอยากมีอยากทำนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การเริ่มต้นอะไรบางอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นถ้าอยากทำสิ่งที่ฝันให้เป็นจริงนั้นเราจึงต้องพยายาม เพราะทุกย่างก้าวที่เราเดินไปตามที่เราเชื่อนั้นมีอุปสรรคอยู่เสมอ และเพราะแบบนั้นเมื่อเราทำสำเร็จจึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ”
หากคุณลองเลือกเปิดหนังสือขึ้นมาสักเล่ม หน้าแรกที่จะได้เห็นคงเป็นหน้าคำนำ คงไม่ต่างอะไรจากร้านคำนำแห่งนี้ที่เปรียบเสมือนหน้าแรกของความฝันชายหนุ่ม 2 คน ผู้มุ่งมั่นทำตามในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ จริงอยู่ที่ว่าเราคงไม่มีวันรู้ว่าเรื่องราวต่อจากหน้าคำนำนั้นคืออะไร บางทีอาจเป็นเรื่องสั้น บางทีอาจเป็นเรื่องยาว หรือในบางครั้งอาจเป็นบทกวี
แต่เราเชื่อว่าเรื่องราวของการทำตามความฝันนั้น…ไม่ว่าจะจบลงอย่างไร
ย่อมเป็นเรื่องราวที่สวยงามอย่างแน่นอน