Published on SPECIAL ISSUE
กฎเหล็กภายในวง Gym and Swim ก็คือ ห้ามลืมวางโทรศัพท์ทิ้งไว้เมื่อต้องออกไปข้างนอก ไม่เช่นนั้นจะโดนการลงทัณฑ์โดยการแอบตั้งสเตตัสเฟสบุ๊คแปลกๆ ในโพสต์หลักของตนเองทันที

Gym and Swim : ไม่หล่อ…แต่น่ารักนะ

เรื่องและภาพ : howl the team

หากพูดถึงคำว่า Gym and swim หลายๆ คนก็คงนึกไปถึงกิจกรรมการออกกำลังกาย โยกย้ายส่ายสะโพก หรือการฟังเพลงสนุกๆ ระหว่างเต้นแอโรบิค ซึ่งค่อนข้างตรงกับแนวทางการทำเพลงของวงคือ อยากทำเพลงที่สนุก แปลกใหม่ และทุกคนสามารถขยับร่างกายตามไปได้

แต่แท้จริงแล้วความหมายของคำว่า Gym and swim นี้มาจาก เฉลิม (นักร้องนำ) และเติร์ก (มือกีต้าร์) สองเพื่อนซี้ต่างวงดนตรีที่ชวนกันมาทำเพลงแบบเฉพาะกิจเพื่อใช้เข้าประกวดในงาน“เอาหนังมาทำเป็นเพลง” ของคลื่นวิทยุ Fat Radio ในโครงการ BEDROOM STUDIO PROJECT ONE โดยคำว่า Gym และ Swim ก็มาจากหนึ่งในฉากยอดนิยมของหนังผู้ใหญ่เชื้อสายญี่ปุ่นที่ผู้ชายหลายคนเคยผ่านตากันมาบ้างแล้ว ประจวบกับเมื่อรวมสองคำนี้เข้าด้วยกันก็ให้ความรู้สึกที่ดูน่ารัก ซุกซน ซึ่งน่าจะเหมาะกับตัวตนที่พวกเขาเป็นพอดี เลยกลายเป็นชื่อวง Gym and Swim ที่เราได้รู้จักกันในที่สุด

ครั้งแรกที่เราได้พบกับสมาชิกของวงจากค่าย Parinam Music นี้ ก็ต้องบอกว่า ให้ความรู้สึกถึงความเป็นกันเองตั้งแต่เริ่มต้น เพราะก่อนเริ่มสัมภาษณ์ ทางทีมงานได้เปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งเกร็งๆ บนเก้าอี้ มาเป็นนั่งสบายๆ ที่พื้น ปรากฏว่าสมาชิกในวงทุกคนที่มาถึงตอนนั้น (เฉลิม ปกป้อง และมัดหมี่) ต่างก็ทรุดตัวลงนั่งที่พื้นแทบจะพร้อมๆ กับพวกเราเลยทีเดียว เล่นเอาวงสนทนาที่ดูจะเงียบขรึมในตอนแรกกลับมีเสียงหัวเราะขึ้นมาอยู่พักใหญ่

เป็นความประทับใจเล็กๆ ที่ทำให้รู้สึกว่า…
วงดนตรีที่ไม่มีฟอร์มมากนัก ก็ทำให้ดูน่ารักดีเหมือนกัน

 

img_5113

แต่ละคนมีวงเป็นของตัวเองอยู่แล้ว

เฉลิม : ในตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะทำกันแบบจริงจัง พอดีตอนนั้นที่ fat radio (ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนเป็น cat radio) กำลังจัดประกวดโครงการ เอาหนังมาทำเป็นเพลง ซึ่งเราก็กำลังอยู่ในช่วงที่อยากลองทำเพลงให้ฉีกจากแนวเดิมที่เคยทำอยู่พอดี ก็เลยไปคุยกับเติร์ก (มือกีต้าร์) เติร์กก็เลยลองโทรไปชวนป้อง ซึ่งตอนนั้นก็คิดในใจว่า ปกป้อง plastic plastic เลยเหรอวะ (หัวเราะ) เพราะความรู้สึกตอนนั้นเขาดูรุ่นใหญ่ แต่พอโทรคุยผ่านไปประมาณนาทีนึง เขาก็ตอบตกลงทำด้วยกันซะเฉยๆ

ปกป้อง : ทำอะไรก็ยังไม่รู้เลย แต่ก็ เอ้อ เอ้อ ทำๆ

เฉลิม : เอ้ย! เอาง่ายๆ แบบนี้เลยเหรอวะ (หัวเราะ)

หลังจากนั้น เฉลิมก็เลยไปชวนมัดหมี่ (มือกลอง) ซึ่งขณะนั้น กำลังเล่นให้อยู่กับอีกหลายวง จนกลายมาเป็นสมาชิกคนที่ 4 ในที่สุด ซึ่งในตอนแรกทุกคนคิดเหมือนกันว่าด้วยจำนวนสมาชิกเท่านี้ (ยังไม่มีมือเบส) อาจจะทำให้คนจำภาพของวงได้มากกว่า แต่พอไปเล่นสดจริงๆ แล้ว ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า น่าจะหามือเบสมาเล่นประจำด้วยกันนะ (ฮา) เลยได้โอกาสไปชวนฮ้อป (ซึ่งตอนนั้นเล่นให้กับวง plastic plastic) ผู้ที่ดูน่าจะพึ่งพาและเป็นแกนหลักให้กับวงได้มาร่วมทีม และหลังจากใช้เวลาปรับจูนกันอยู่ไม่นาน ก็เกิดเป็นซิงเกิ้ลแรกของวงคือเพลง “ไอรอนแมน” ในที่สุด

 

Bunny house

เฉลิม : ส่วนใหญ่เพลงของวง Gym and Swim จะเริ่มคิดจากภาคดนตรีก่อน โดยป้องจะเริ่มในส่วนของ rhythm แล้วค่อยมาเติมเครื่องเคาะ ส่วนเพลง Bunny house เริ่มมาจาก riff กีต้าร์เล็กๆ ท่อนหนึ่งของป้อง แล้วพวกเราชอบเลยเอาท่อนนั้นไปขยาย โดยแนวคิดของเพลงนี้คือ อยากได้เพลงที่มันโยกๆ ที่สุดเท่าที่เราเคยทำมา เพื่อเอาไว้เล่นสดแล้วคนดูจะได้สนุกๆ ซึ่งพอเราได้ groove ของเพลงที่คิดว่ามันค่อนข้างจะบันเทิงดีแล้ว ก็ค่อยมาคิดกันต่อว่า เนื้อหาของเพลงจะพูดถึงอะไร อย่างเช่นเพลงนี้ก็เลยได้เหมือนเป็นอารมณ์ชวนคนมาเฮฮา มาปาร์ตี้ มีคนใส่ชุดกระต่ายอยู่ในบ้าน หรือจริงๆ ก็คือล่อลวงเขาให้เข้ามานั่นแหละ (หัวเราะ)

และ Bunny house ก็กลายเป็นเพลงแรกที่วง Gym and swim มักใช้เล่นเป็นเพลงเปิดในการแสดงสดเสมอ ด้วยตัวเพลงที่ค่อนข้างสนุก คึกคัก ทำให้สามารถเรียกคนดูได้ (ส่วนเพลงที่ทำให้วงเริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นการปักหมุดในสไตล์เพลงของวงคือ เพลง Octopussy ซึ่งถูกดัดแปลงมาแล้วเกือบ 20 เวอร์ชั่น ก่อนจะมาเป็นเพลงอย่างที่เราได้ฟังกันทุกวันนี้)

 

img_5151

 

เกือบ 3 ปีกว่าจะทำอัลบั้มเสร็จ

มัดหมี่ : เวลาหนึ่งปีแรกของวงหมดไปกับการนั่งคุย มองหาแนวทางที่แต่ละคนชอบกันจริงๆ ถึงขนาดว่า บางวันที่นัดกันมา ก็ไม่ได้ซ้อมดนตรีเลยก็มี แค่มานั่งคุย เปิดยูทูปดูกัน จนกระทั่งมันมามีคำว่า “deadline” เกิดขึ้นนั่นแหละ

เฉลิม : เอาจริงๆ วงดนตรีจะเกิดได้ ทุกคนต้องหา deadline ของตัวเองก่อน

ป้อง : เพราะว่าพอมันไม่มีกำหนดส่ง มันก็จะไปเรื่อยๆ

เฉลิม : อย่างช่วง deadline ของวงเรานี่คือจะมีเพลงคลอดออกมาอาทิตย์ละเพลงเลยนะ มันก็เลยยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า แล้วไอ้ช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี่มันคืออะไร (หัวเราะ) เหมือนพอมีเวลาที่จำกัดเลยยิ่งทำให้รู้สึกว่า กับเพลงๆ นี้ที่ตรงนี้เรารู้สึกว่ามันโอเคแล้ว ก็ไม่ต้องให้มันโอเคไปมากกว่านี้แล้วนะ เพราะว่าเพลงมันสามารถแก้ไขได้จนไม่มีที่สิ้นสุด หรือถ้ามีแนวคิดอะไรดีๆ ก็เอาไว้ไปใส่กับเพลงใหม่เลยน่าจะดีกว่า

มัดหมี่ : จริงๆ การทำให้เสร็จในเวลาที่จำกัด มันก็ให้ความรู้สึกที่สดดีนะ อย่างเพลงหลังๆ ของเราส่วนใหญ่ก็มีแต่แบบที่เป็นเวอร์ชั่นเดียวทั้งนั้นเลย

 

วงดนตรีเด็กเรียบร้อย

ด้วยความที่ทั้งวงค่อนข้างมีความสนิทสนมกันมากกว่าการมารวมตัวกันเพื่อเล่นดนตรีเพียงอย่างเดียว ทำให้มีวีรกรรมต่างๆ และเหตุการณ์สนุกๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกันมาอย่างมากมาย เช่น ประสบการณ์เจอผีแต่ที่จริงเป็นกวางที่ big mountain หรือทำตัวเลียนแบบนิสัยชาวจีนที่สิงคโปร์

เฉลิม : อยู่กับแฟนเพลงส่วนใหญ่เราจะพยายาม keep character เช่น สวัสดีครับๆ (ยิ้ม) อย่างพี่ป้องเขาก็จะมีสาวๆ เยอะ ทุกคนจะเข้าใจว่า เวลาอยู่บ้านพี่ป้องจะต้องทำดนตรีตลอดเวลาแน่เลย ซึ่งอยากเน้นตรงนี้ชัดๆ เลยนะว่า…

มัดหมี่ : พี่ป้องยังโสดค่ะ! ปกป้องโสดมาก

ปกป้อง : บอกไปก็เท่านั้นแหละ (หัวเราะ)

ซึ่งกฎเหล็กภายในวง Gym and Swim ก็คือ ห้ามลืมวางโทรศัพท์ทิ้งไว้เมื่อต้องออกไปข้างนอก ไม่เช่นนั้นจะโดนการลงทัณฑ์โดยการแอบตั้งสเตตัสเฟสบุ๊คแปลกๆ ในโพสต์หลักของตนเองทันที (มัดหมี่และเฉลิมเป็นผู้ที่โดนแกล้งบ่อยสุด)

 

ทำอะไรก็ได้แต่ห้ามเท่ห์

ด้วยความที่แต่ละคนในวง ไม่อยากให้แฟนเพลงรู้สึกว่าพวกเขาคือนักดนตรีอาชีพ ที่อาจจะดูมีความเป็นศิลปินและเข้าถึงได้ยาก ทำให้การวางตัวหรือแม้กระทั่งท่วงทำนองของเพลงที่ตั้งใจทำออกมา ถ้าพวกเขารู้สึกว่ามันดูเท่ห์จนเกินไป ก็จะพยายามปรับเอาตรงนั้นออกไปเสีย และนี่ก็อาจจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของวงดนตรีวงนี้ ที่ทำให้แฟนเพลงรู้สึกเข้าถึงได้ง่าย กล้าพูด กล้าคุย เพราะมีความสบายๆ เป็นกันเอง ไม่หล่อมากแต่เป็นมิตรนะ

เฉลิม : แนวเพลงของวงเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นหู แต่มันก็ไม่ได้ฟังยาก แล้วแฟนเพลงส่วนใหญ่ก็คือ กลุ่มคนฟังทั่วไป ที่พอฟังเราแล้ว เพลงต่อไปอาจจะฟังพี่เบล สุพล ก็ได้

มัดหมี่ : บางคนก็เหมือนเปิดเจอพอดี ก็ตามมาฟัง

ป้อง : โดยรวมก็คือ เน้นง่ายๆ คนฟังได้สนุกแหละ

 

img_5131

 

ขายอัลบั้มหมดก็ดีใจแล้ว

ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ อัลบั้มเต็มของวง Gym and Swim ก็จะเริ่มออกขาย ทำให้ในช่วงนี้ทุกวันอาทิตย์ของสัปดาห์ จะมีการนัดซ้อมกันที่สตูดิโอซึ่งเป็นบ้านของป้อง และหวังว่าจะซ้อมเก็บรายละเอียดการเล่นของทุกเพลงให้ได้ทันก่อนที่อัลบั้มจะเริ่มจัดจำหน่าย ซึ่งในระยะยาว เฉลิมก็ได้เล่าให้ฟังว่า อยากมีงานจ้าง และมีรายได้จนเพียงพอที่จะสามารถทำอัลบั้มที่ 2 ต่อไปได้

สำหรับใครที่สนใจก็สามารถหาซื้ออัลบั้มของ Gym and Swim ได้ ตามงานต่างๆ ที่วงไปเล่น หน้าเฟสบุ๊คแฟนเพจ ร้านน้องท่าพระจันทร์ หรือใครที่อยู่ญี่ปุ่นก็สามารถหาซื้อได้ เพราะทางค่ายเพิ่งได้รับการติดต่อจากบริษัทที่ญี่ปุ่นว่า ต้องการเป็นตัวแทนจำหน่ายอัลบั้มเพลงของวง Gym and Swim ซึ่งมีความพิเศษคือ มีเพลงทั้งหมด 11 เพลง (มีเพลงเพิ่มขึ้นจากอัลบั้มปกติ 1 เพลง แถมยังได้แผ่นที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย)

 

มีค่ายหรือไม่มีค่ายดีกว่ากัน

ฮ้อป : คือทุกอันมันมีข้อดีข้อเสีย อย่างมีค่าย ค่ายก็คอยช่วยจัดการเรื่องการติดต่อประสานงานให้ มันก็ง่ายกว่าการเป็นนักดนตรีอิสระพอสมควร

ป้อง : ความจริงการมีค่ายมันมีหลายระดับมาก อย่างที่วงเราอยู่จะค่อนข้างกันเอง กึ่งๆ เหมือนอิสระเลยด้วยซ้ำ

มัดหมี่ : อย่าวงเราที่ค่ายก็จะไม่ค่อยยุ่งเรื่องเพลง หรือขั้นตอนในการผลิตมาก

ฮ้อป : ซึ่งจริงๆ หลายค่ายก็เป็นแบบนี้นะ ขึ้นอยู่กับว่าตัววงเองได้ตกลงหรือต้องการอะไรจากค่ายมากกว่า

เฉลิม : อย่างวงที่ไม่มีค่าย เขาน่าจะมีเวลาจัดการกับการติดต่องานอะไรต่างๆ เหล่านี้ด้วยตัวเอง มีความเข้าใจ ถ้าอยู่แบบนั้นได้ก็ดี มันอิสระ แล้วมันก็น่าจะดีกับเขาด้วย

สุดท้ายสิ่งที่วง Gym and Swim อยากทำต่อไปคือ การทำเพลงในสไตล์วงบอยแบนด์ที่มีผู้หญิงด้วย เพราะชอบในความเป็น R&B และ Hiphop ซึ่งก็ต้องบอกว่า ถ้าทำกันขึ้นมาจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดูน่าสนใจไม่ใช่น้อย (แต่ก็ยังไม่ได้ปรึกษากันครบทุกคนหรอกนะ)