Published on SPECIAL ISSUE
ทุกครั้งที่เราดูโฆษณาเรารู้สึกว่ารูปแบบมันเดิมๆ ความจริงมันก็ไม่ได้ผิดหรอก แต่เรารู้สึกว่ายังมีทางใหม่ๆ ที่ทำได้ เราอยากเป็นทางเลือก (อัลเทอร์เนทีฟ) นี้ ถ้าคนอื่นเลือกทาง ก. เราอาจจะบอกว่ามี ข. ค. ง. ด้วยนะ ซึ่งนี่คืองานที่เป็นอายดรอป และเป็นปณิธานของเรา

Eyedropper Fill – นักทดลองแห่งภาพเคลื่อนไหว

เรื่อง : Lonely tea ภาพ : Bluebird fly

คงไม่ง่ายนักถ้าจะนิยามพวกเขาว่าเป็นอะไร

หากให้เอ่ยถึงชื่อ Eyedropper Fill หลายคนคงนึกถึงผลงาน MV เพลงอันเป็นเอกลักษณ์ที่มีวิธีเล่าเรื่องอย่างแปลกใหม่ แต่ความจริงนอกจากผลงาน MV เพลงแล้ว พวกเขายังมีผลงานที่หลากหลาย ทั้งการกำกับหนังสั้น โฆษณา หรือสารคดี การใช้เทคนิคใหม่ๆ อย่างการใช้เลเซอร์เพื่อแสดงผลงาน คลิปสั้นๆ ที่มีแนวความคิดไม่ธรรมดาอย่างการใช้กล้องถ่ายภาพโดยไม่มีเลนส์ หรืองาน Installation แปลกตาอื่นๆ

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่างานของพวกเขาคือการสร้างผลงานเกี่ยวกับภาพเคลื่อนไหวและสิ่งที่ตามองเห็น

ดังนั้นหากให้หาคำนิยามที่น่าจะครอบคลุมความเป็นตัวพวกเขามากที่สุด พวกเขาขอเรียกตัวเองว่า Visual Designer (นักออกแบบงานภาพ)

แต่ในมุมมองของเรา นอกจากการเป็นนักสร้างสรรค์ภาพเคลื่อนไหวและสิ่งที่ตาเห็นแล้ว พวกเขายังเป็นนักทดลองฝีมือฉกาจ ผู้ค้นหาแนวทางอื่นๆ ในการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนและไม่ซ้ำแบบใคร

ดังนั้นหากให้นิยามอีกครั้ง นอกจากคำว่า Visual Designer แล้ว

เราคิดว่า “นักทดลองแห่งภาพเคลื่อนไหว” น่าจะเป็นฉายาที่เหมาะสมกับพวกเขาอย่างแท้จริง

 

img_6665

 

1. จุดกึ่งกลางของคำว่าแมส กับ อาร์ต

ชายหนุ่ม 2 คน เบสท์—วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ นัท—นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล คือ สองผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill ผู้คร่ำเคร่งอยู่กับการทดลองและค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องให้กับงานของพวกเขา ทำให้งานของพวกเขาเป็นจุดกึ่งกลางของคำว่าแมสกับอาร์ต เป็นส่วนผสมลงตัว ที่แม้รสชาติจะไม่คุ้นมากนัก หากแต่อร่อยกลมกล่อมไม่เหมือนใคร

“เราอยากให้งานที่เราทำมีความเป็นศิลปะ แต่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้ คือมันจะไม่อาร์ตแบบว่าไม่เข้าใจเลย หรือเป็นงานแมสจ๋าเลย แต่เป็นจุดกึ่งกลางที่ไม่ว่าคนดูเป็นพวกแมสหรืออาร์ตก็สามารถเข้าใจงานของเราได้”คุณเบสท์-วรรจธนภูมิ บอกกับเราอย่างนั้น

ทั้งคุณเบสท์และคุณนัท ต่างเริ่มทำงานด้านภาพเคลื่อนไหวและ Visual Design มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 ด้วยความที่พวกเขาเรียนมาทางด้านศิลปะ ไม่ได้เรียนมาทางด้าน ภาพยนตร์ ทำให้พวกเขามีแนวความคิดที่ไม่เหมือนใครและเริ่มจับทางได้ว่ามีวิธีสื่อสารกับคนดูใหม่ๆ ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำแบบเดิม ทำให้เริ่มเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ขึ้น พวกเขาใช้เวลาเกือบ 8 ปี เพื่อศึกษาสิ่งที่ตลาดเรียกว่า “แมส” และสิ่งที่ตลาดเรียกว่า “อาร์ต” และสร้างผลงานที่อยู่ในจุดกึ่งกลางขึ้นมาในที่สุด

“ทุกครั้งที่เราดูโฆษณาเรารู้สึกว่ารูปแบบมันเดิมๆ ความจริงมันก็ไม่ได้ผิดหรอก แต่เรารู้สึกว่ายังมีทางใหม่ๆ ที่ทำได้ เราอยากเป็นทางเลือก (อัลเทอร์เนทีฟ) นี้ ถ้าคนอื่นเลือกทาง ก. เราอาจจะบอกว่ามี ข. ค. ง. ด้วยนะ ซึ่งนี่คืองานที่เป็นอายดรอป และเป็นปณิธานของเรา”คุณนัท-นันทวัฒน์ พูดถึงแนวทางของ Eyedropper Fill ที่อยากเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการนำเสนองานต่างๆ ของประเทศไทย

ในปัจจุบัน Eyedropper Fill ทำหลักๆ อยู่ 3 อย่าง คือ ภาพเคลื่อนไหว เช่น มิวสิกวิดีโอ หนังสั้น สารคดี อีกอย่างคืองาน Installation เป็นงานที่อยู่นอกจอ อย่างติดตั้งเลเซอร์ Interactive ต่างๆ และอย่างสุดท้ายที่กำลังวางแผนจะสร้างในปีนี้คืองานด้าน Education เช่น ทำเวิร์กช็อปให้นักเรียนมัธยม ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้มีจุดร่วมกันคือความเป็นครีเอทีฟ ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ เนื่องจากตอนนี้เรื่องเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มากและน่าจะยังไม่มีบริษัทไหนรับทำงานที่หลากหลายขนาดนี้

“ในระยะเวลา 8 ปี ที่ทำงานมา เราใช้เวลา 5 ปีแรก ไปกับการที่เราตามหาลายเซ็นของเรา ว่าอะไรคือแก่นของ Eyedropper Fill อะไรคือแบรนดิ้งของเรา พอเราตามหาตัวเองเจอ เราก็พัฒนาสิ่งนั้นมาอีก 2 – 3 ปี ทำให้คนอื่นรู้จักเรามากขึ้น จากที่ไม่มีใครรู้จักเรา หลายคนแปลกใจว่าเราทำมา 8 ปีแล้ว เพราะเพิ่งรู้จักเราเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง”คุณเบสท์พูด

เมื่อมีงานที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจแล้ว ต่อไปน่าจะเป็นคำถามที่ทุกคนสนใจว่า สุดท้ายแล้วงานแบบนี้สามารถขายลูกค้าได้ไหม และลูกค้าจะเข้าใจผลงานของพวกเขาหรือเปล่า

 

img_6739

 

2. ความเป็น Eyedropper Fill

“เมื่อก่อนเราก็เคยแตกหักกับลูกค้านะ เคยคิดว่าถ้าลูกค้าไม่เอาแสดงว่าเขาไม่ใช่ทางแบบเรา”

เป็นคำพูดหนึ่งของคุณนัท ที่เล่าถึงสมัยก่อนของ Eyedropper Fill แต่ตอนนี้พวกเขาบอกว่าหลังจากการทำงานมานานทำให้พวกเขาเข้าใจทั้งลูกค้าและตัวเองมากขึ้น เป็นเรื่องของการจูนให้เข้าใจตรงกันเสียมากกว่า

“ตอนหลังเราพยายามทำความเข้าใจทั้ง 2 ฝั่ง เราแคร์ทั้งคนดู ลูกค้า และโปรเจคว่าควรอยู่ตำแหน่งไหน ถ้าโปรเจคอาร์ต เราก็เลียบไปทางอาร์ต อย่างใน MV GAME OVER ของ STAMP x YMCK เราเอากล้องไปให้แม่ค้าเตะที่ตลาด บอกว่ากล้องคือแมลงสาบนะ เขาก็เข้าใจและเล่นกับเรา เราก็สนุกมากนะ เพราะต่อให้เป็นงานศิลปะก็ยังต้องการความเข้าใจอยู่เหมือนกัน”คุณนัทขยายความ

เมื่อไม่นานมานี้ทาง Eyedropper Fill ได้ทำการรีแบรนด์ตัวอง ซึ่งทั้งคุณนัทและคุณเบสท์ ได้บอกว่าพวกเขาทำเพื่อแสดงความเป็นตัวเองของ Eyedropper Fill ออกมาให้ชัดขึ้น เพื่อที่ลูกค้าจะได้เข้าใจพวกเขามากขึ้นเช่นกัน

“เหตุผลที่รีแบรนด์คือพอทำมาถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว มันก็มีสิ่งที่เราถนัดอยู่ แต่สิ่งที่เราถนัด มันไม่ถูกนำมาใช้กับลูกค้าเลย เราก็เลยมานั่งทบทวนว่าจริงๆแล้ว เราคือใคร เพราะสุดท้ายเราทำงานอะไรก็ต้องผ่านตัวเราอยู่ดี เราเลยใช้เวลา 2 – 3 ปีนี้ มาทำงานสร้างโปรไฟล์ของเราขึ้นมา ก็เลยเป็นเหตุผลที่เรารีแบรนด์ตัวเองขึ้นมา และเปลี่ยนโลโก้ขึ้นมาใหม่”คุณเบสท์พูด โดยคนที่ออกแบบโลโก้ใหม่นั้นคือ คุณเหนือ-จักรกฤษณ์ อนันตกุล ดีไซน์เนอร์และ Illustrator ชื่อดังนั่นเอง

“โลโก้นี้พูดถึงเรื่องการมองเห็น ทดลองหาความเป็นไปได้อื่นๆ ที่คนไม่เห็นกัน แต่คำว่าทดลองนี้ ลูกค้าจะกลัวว่าเอาตังค์ไปทดลองได้ไง แต่คำว่าทดลองของเราคือการนำสิ่งหนึ่งผสมกับสิ่งหนึ่งให้ได้สิ่งที่น่าสนใจมากขึ้น โดยที่ราคาไม่ได้แพงขนาดนั้น การทดลองอาจหมายความว่าเราคิดเยอะ หรือหากระบวนการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าโดยที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

 

img_6699

 

3. กระบวนการทดลอง

สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นจุดเด่นของ Eyedropper Fill และชายหนุ่ม 2 คนนี้คือพวกเขาเป็นนักทดลองผู้หมกมุ่นกับการคิดค้นแนวทางความเป็นไปได้อื่นๆ ในการเล่าเรื่องในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ยึดติดกับแนวทางเดิมๆ ซึ่งพวกเขาจะทดลองหาวิธีต่างๆ ไปเรื่อย จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่นำไปใช้ได้จริงและน่าพอใจ

“กระบวนการทำงานของ Eyedropper Fill เหมือนกับวิชาวิทยาศาสตร์เลย คือทดลองสมมติฐาน แล้วจดบันทึก โดยเราทำหลายๆ อย่างแล้วมาดูว่าได้ผลลัพธ์อะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราจะทดลองก็ทดลอง แต่มันเป็นเรื่องที่ว่าเราจะทดลองอะไรบ้าง แล้วมาดูผลลัพธ์ว่าเกิดอะไรขึ้น”คุณเบสท์กล่าวถึงสไตล์การทดลองแบบ Eyedropper Fill

“นอกจากเรื่องที่เราชอบทดลองแล้ว เรายังชอบเรียนรู้กับคนที่ทำงานร่วมกันด้วย ด้วยความที่เราไม่ได้จบมาทางภาพยนตร์โดยตรง บางทีถ้ามีน้องฝึกงานที่จบมาทางด้านนี้มาฝึกกับเรา เราก็ได้ไอเดียใหม่ๆ มา ซึ่งไอเดียใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้เราไม่กลายเป็นคนแก่ที่ตายไปตามกาลเวลา”

นอกจากการทดลองแล้ว พวกเขายังเป็นนักสังเกตและนักจับกระแสตัวยง พวกเขาเรียนรู้กระแสทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่พวกเขาก็ไม่ได้สื่อสารกับกระแสเหล่านั้นโดยตรงแต่เป็นเรื่องของการมองภาพกว้างเพื่อจับทิศทางเทรนด์เสียมากกว่า

“เราไม่ได้ทำงานจากกระแสโดยตรง เราเน้นภาพรวมมากว่า เราดูกระแสจากมุมสูงขึ้นมา เช่น กระแสเสียงสูง เรามองภาพรวมว่าไม่ว่ายังไงคนไทยก็ยังชอบประเด็นดราม่าอยู่ ต้องทำยังไงถึงเป็นฟีลดราม่า ที่ไม่ใช่เอาผู้หญิงมาตบกัน ถ้าทำแบบเดิมแบบที่ทุกคนชอบดีแล้ว มันก็จะอยู่แบบเดิมไปเรื่อยๆ แต่ถ้าวันหนึ่งเราลองเปลี่ยนรสชาติใหม่ๆ ให้ลองชิม ถ้าเขาชอบและติดใจ พอถึงตอนนั้นแล้วเขาก็จะกลับไปกินรสเก่าไม่ได้แล้ว เพราะรู้สึกว่าจืด ต้องไปหารสใหม่ๆ กิน แต่ถ้าไม่เคยกินเราก็ไม่รู้ว่าอะไรอร่อย”คุณนัทกล่าวเสริม

ซึ่งการมองภาพในมุมสูงนี้เองทำให้พวกเขามองเห็นปัญหาในระบบการศึกษาในไทยและได้เป็นอีกหนึ่งโปรเจคเวิร์กช็อปในการออกไปให้ทำกิจกรรมเสริมสร้างให้นักเรียนและนักศึกษารู้จักกระบวนการคิดและตั้งคำถาม ซึ่งโปรเจคนี้ชายหนุ่มทั้ง 2 คน อยากเรียกมันในชื่อ Education และเป็นสิ่งที่อยากทำอย่างจริงจังในปีนี้

 

img_6748

 

4. หยอดยาหยอดตากับกระบวนการศึกษาไทย

“เราทุกคนต่างรู้ว่าการศึกษาไทยมีปัญหา”

คุณเบสท์พูดเกริ่นกับเรามาแบบนั้นเมื่อถามถึงเรื่องโปรเจ็ค Education ที่พวกเขาออกไปทำเวิร์กช็อปตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้เด็กได้กระบวนการคิดและตั้งคำถามอย่างถูกต้อง ซึ่งพวกเขาได้ทำสำเร็จไปหลายที่แล้ว ทั้งโรงเรียนในเขตกทม. และมหาวิทยาลัยหลายแห่ง

“เรื่องนี้เกิดขึ้นจากเราอยากให้มีการเรียนรู้อย่างถูกต้อง เช่น เวิร์กช็อป Youngจะทำ ครั้งล่าสุดเกี่ยวกับสารคดี ที่ไม่ใช่ทำสารคดีแต่ให้เด็กมานั่งคุยกัน พอจบ 2 วัน ถามเด็ก ให้คอมเม้นต์ตรงๆ มีเด็กคนหนึ่งร้องไห้บอกว่ามาเรียนที่นี่ 2 วัน ได้มากกว่าที่เรียนมหาวิทยาลัย 2 ปี เสียอีก ซึ่งมันเป็นคำถามครั้งใหญ่เลยว่าการศึกษาไทยมันมีปัญหาแล้วนะ”คุณเบสท์เล่าเรื่องการ Education ที่พวกเขาเคยทำให้ฟัง “ยุคนี้มันโลกอินเทอร์เน็ตมันทำให้การศึกษาไม่ได้อยู่ในโรงเรียนแล้ว มันอยู่ที่ไหนก็ได้ ถ้าอาจารย์ยังไม่ปรับตัว การศึกษาไทยจะตายนะ นี่เลยเป็นคำถามกลับมาที่ตัวเราว่าในฐานะที่นักออกแบบ เราจะทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง ถ้าเรามีความรู้อะไร เราก็อยากให้ความรู้คนอื่น เราทำโฆษณาได้เงินมาพอแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องทำอะไรคืนเพื่อสังคมบ้าง”

แนวทางการ Education ของพวกเขามีทั้งการบรรยายปกติและการทำเวิร์กช็อปในโรงเรียนมัธยม ซึ่งทั้ง 2 คนได้เล่าให้เราฟังว่าพวกเขาเคยให้โจทย์สนุกๆ กับเด็กๆ เช่น ให้ลองประดิษฐ์วิธีถ่ายภาพตัวเองในมุมที่แปลกที่สุด ซึ่งเป็นการทำให้เด็กได้ลองคิดอะไรนอกกรอบ และผลลัพธ์หลังจากนั้นคือกระบวนการเรียนรู้และตั้งคำถาม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการศึกษาในปัจจุบัน

“ตั้งแต่ที่เราได้ไปโรงเรียนต่างๆ มา เราได้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของแต่ละโรงเรียน แต่เด็กแต่ละคนไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนไหนล้วนมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้สูงมาก ถ้าเราเอาใจใส่เขาได้เท่ากันก็จะทำให้เขาได้อะไรแน่ๆ และความเหลื่อมล้ำน่าจะไม่มากเท่าตอนนี้”คุณนัทกล่าว “เราอยากให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเท่ากัน ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน หลักสูตรและบุคลากรต้องพอๆ กัน ตอนนี้มันแตกต่างยังกับหน้ามือเป็นหลังมือ บางคนบอกมันก็เป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเราไม่เริ่มเปลี่ยนวงจรนี้ เราจะเปลี่ยนตั้งแต่เมื่อไหร่ล่ะ”

“มันต้องมีใครซักคนเริ่มต้นทำขึ้นมาจริงๆ”

 

img_7948

 

5. ผลลัพธ์การทดลอง

จากความพยายามมาอย่างยาวนานกว่า 8 ปี ในที่สุดผลลัพธ์จากการทดลองของ Eyedropper Fill ก็เริ่มผลิดอกออกผล อย่างในปีนี้ก็มีคนเริ่มหันมาสนใจแนวทางใหม่ๆ กันมากขึ้น ทำให้มีลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศหลายรายสนใจอยากร่วมงานกับ Eyedropper Fill

“สิ่งที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้มาง่ายๆ คนชอบถามเราบ่อยๆ ว่ามีทางลัดไหม แต่เราคิดว่าหลายๆคนที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในตอนนี้ล้วนผ่านความทรหดมาทั้งนั้น ดังนั้นเราจึงแนะนำเสมอว่าให้ลองทำไปก่อน เดินไปก่อน แล้วก็จะเจอทางลัดเอง ถึงบอกทางลัดไปตอนนี้ สุดท้ายก็หลงอยู่ดี”คุณนัทยิ้ม

แต่ไม่ว่า Eyedropper Fill จะเริ่มเติบโตยังไง แต่ชายหนุ่ม 2 คนนี้ก็ยังไม่หยุดการทดลอง แม้กระทั่งตอนนี้พวกเขาก็ได้ทำหนังสารคดีสไตล์ตัวเอง ที่มีส่วนผสมของสารคดีและหนังเล่าเรื่อง ซึ่งขณะนี้ได้ส่งไปตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ อยู่ กำลังรอดูผลตอบรับกลับมาว่าจะได้ฉายที่ไหนบ้าง ถือเป็นอีกหนึ่งโปรเจคทดลองที่น่าสนใจไม่น้อย

เมื่อเราถามคำถามปิดท้ายว่าถ้ามีความคิดที่อยากจะทำหนังยาวขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง จะทดลองอะไรลงไปในหนังเรื่องนี้ คุณเบสและคุณนัท ต่างทำท่าครุ่นคิดอยู่พักหนึ่งก่อนที่คุณเบสจะยิ้ม

“ถ้าเป็นไปได้ ขอยังไม่จำกัดความดีกว่า ยังไม่อยากคิดว่าทดลองอะไรและได้ผลลัพธ์อะไร”ชายหนุ่มทิ้งจังหวะ

“เพราะถ้าเราคิดได้ตอนนี้…มันก็ไม่ใช่การทดลองแล้วล่ะ”