เมื่อเราอยากจะหาภาพยนตร์ดูสักเรื่อง เรามักจะนึกถึงโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้า แต่ถ้าเราอยากจะหาภาพยนตร์อิสระดูล่ะ หรือแม้กระทั่งคนทำหนังที่อยากจะปล่อยของ หลายๆ คนคงจะนึกไม่ออกว่าควรไปที่ไหน
เมื่อไม่กี่ปีมานี้มีโรงภาพยนตร์เล็กๆ ผุดขึ้นมาใจกลางกรุง เป็นโรงภาพยนตร์อิสระชื่อว่า Bangkok Screening Room หรือ BKKSR ก่อตั้งโดย มิ้ว – ศริญญา มานะมุติ เม่น – วงศรน สุทธิกุลพานิช และนิค – นิโคลัส ฮัดสันเอลิส กลุ่มคนที่มีประสบการณ์ทำงานในสายงานภาพเคลื่อนไหวและงานออกแบบทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันในการที่อยากให้ประเทศไทยมีโรงภาพยนตร์อิสระที่รองรับคนทำหนังให้มีพื้นที่แสดงผลงานอย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่ใน Festival อีกต่อไป และคนดูหนังในแนวที่ตนเองชื่นชอบ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่ตรงกับกระแสหลักเท่าไหร่นัก
การรวมตัวกันของเจ้าของบ้าน
มิ้ว : มิ้วกับเม่นเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ แล้วมิ้วก็ไปโตอยู่ที่ออสเตรเลีย ก็ไปเจอกับนิคที่นั่น เอ่อ..ตอนนี้เป็นสามีค่ะ (หัวเราะ) 10 กว่าปีก็ย้ายไปอยู่เมลเบิร์น แล้วกับเม่นเราก็ยังติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ
เม่น : ที่เมลเบิร์นมันเป็นเมืองที่อาร์ตซีนชัดเจนมาก จะมีพวกโรงหนังอาร์ต มีแกลเลอรี่เยอะมาก แล้วทุกครั้งที่เราไปเราก็ชอบอาร์ตซีนในนั้น
ทุกครั้งที่มิ้วกลับมา มิ้วก็จะแสวงหาพื้นที่ที่มันเป็นอาร์ตอย่างนี้ในเมืองไทยซึ่งมันไม่มี ในเมื่อไม่มีทำไมเราไม่ทำ ก็เลยเกิดไอเดียว่าเราน่าจะทำ
ปัญหาเมื่อเริ่มแรกๆ
เม่น : ไม่ต้องตอนแรกๆ หรอก ตอนนี้ก็ยังมีปัญหา (หัวเราะ)
มิ้ว : เป็นเรื่องของความท้าทายค่ะ อย่างตอนแรกที่เราทำเป็น Pop-up ที่พระโขนง เราก็คุยกับหลายคนในวงการหนังอิสระ ซึ่งสิ่งที่เขาขาดคือสถานที่โชว์ผลงานของเขา เราก็เลยเริ่มทำ Research กัน เม่นก็จะเป็นคนหา Location ที่จะทำกันอย่างจริงจัง ก็มาเจอที่นี่ซึ่งโจทย์ของเราคืออยากให้เป็นสถานที่ที่คนเข้าถึงง่ายที่สุด ไม่ต้องขับรถไกลหลายชั่วโมง สามารถมาได้ทั้ง BTS และ MRT ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับสวนลุมพินี เป็นแลนด์มาร์คที่คนส่วนมากรู้จักกัน
เม่น : จริงๆ แล้วต้องบอกว่าเป็น Location ที่ท้าทายพอสมควร เพราะนี่เป็นตึกแถวที่เอามารีโนเวทใหม่ เราพยายาม Study ทั้งเรื่องของกฎหมาย ทั้งสิ่งต่างๆ ที่โรงหนังต้องมีก็เลย Adapt Design ตัวนี้เข้ามาเพื่อให้มันเข้ากับ Location ตรงนี้เพราะรู้สึกว่าตรงนี้มันมีเสน่ห์ ด้วยความที่ใกล้มหาวิทยาลัย เด็กนักศึกษา กลุ่มชาวต่างชาติที่ชอบดูหนังพวกนี้ กลุ่มคนไทยออฟฟิศแถวนี้ก็จะเยอะ เราก็เลยว่ามันเป็นอะไรที่ลงตัว และด้วยขนาดที่มันกำลังดี เพราะเราไม่คิดจะทำอะไรใหญ่อยู่แล้ว เราเลยจะทำเป็นลักษณะ Half House Cinema เราว่ามันมีเสน่ห์ของมันตรงนี้ สุดท้ายมันก็มีปัญหา ความท้าทายเข้ามาทุกวัน เราคิดว่าเราเลือกสถานที่ถูกต้องนะ เราค่อนข้างแฮปปี้กับโลเคชันตรงนี้
Case Study
เม่น : จะเป็นของต่างประเทศซะเยอะ ด้วยความที่เมืองไทยไม่เคยมีลักษณะโรงหนังแบบนี้ครับ ซึ่เราก็มอง Study จากเขาด้วยแต่เราคงไม่ใช่คู่แข่งเขา เราเป็นโรงหนังเล็กๆ ที่ไม่ได้จับกลุ่มนี้มากกว่า เราอาจไม่ได้มีจอใหญ่เป็น 400-500 นิ้ว แต่สุดท้ายแล้วเรามั่นใจว่าพื้นที่ของเรามัน Educate กับทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น
มิ้ว : ใช่ มันเป็นเหมือนกับประสบการณ์ ง่ายๆ คือถ้าคุณไปที่ BKKSR คุณก็จะได้ดูหนังที่หาดูทั่วไปไม่ได้เป็นหนังอิสระทางเลือก นี่เป็นเป้าหมายของเราจริงๆ แล้วในเรื่องของประสบการณ์เกี่ยวกับดีไซน์ของตัวโรงหนังเอง มันจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างเป็นกันเอง
เม่น : ถ้าเปรียบมันจะเหมือนกับการที่เราซื้อของในห้าง กับร้านขายของชำครับ การที่เราไปซื้อของในห้างมันเหมือนกับมีอะไรให้เลือกเยอะ แต่ว่ามันขาดความเป็น Personal ไป ส่วนร้านขายของชำจากเจ้หน้าปากซอยเนี่ย เราสามารถนั่งคุยกับเจ้ได้ ซึ่งก็เหมือนการที่คุณมาที่ BKKSR คุณจะได้แฮงเอ้าท์กับเจ้ (ผายมือไปที่คุณมิ้วพร้อมกับหัวเราะ)
มิ้ว : จุดมุ่งหมายของเราคืออยากจะสร้างให้เป็นคอมมูนิเคชัน การสื่อสารระหว่างคนที่ชอบดูหนังแล้วก็คนทำหนัง
เม่น : คือมันเป็นสังคมเล็กๆ ของคนรักหนัง ไม่ว่าจะเป็นคนดูหนัง คนทำหนัง คนฉายหนัง คือทุกคนมาตรงนี้มันเป็นสังคมเล็กๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นคอมมูนิตี้อย่างที่มิ้วว่า
กระแสตอบรับ
มิ้ว : ค่อนข้างดีค่ะ คือเรามีวันที่ Sold out ขนาด 4 วัน ทั้งที่เราไม่ค่อยได้ทำโปรโมทอะไรมากมาย เหมือนกับว่ามันเป็นปากต่อปากไป แล้วหลายๆ คนที่มาเขาก็อยากให้มีอีกซึ่งก็ยังติดต่อกันอยู่ ก็เป็นบรรยากาศที่คุณจะได้รับเวลาที่คุณมาดู BKKSR ลูกค้าคนแรกที่เราเปิดประตูให้เข้ามาที่ Open real เขาก็ถามตลอดว่าเมื่อไหร่จะจัดอีก มันเหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำจริงจัง มิ้วและนิคก็เลยย้ายกลับมาเพราะว่าต้องการให้ความสนใจกับตรงนี้ เราลาออกจากงานประจำแล้วมาทำงานนี้ที่เรารัก ซึ่งเราคิดว่ามันทำความแตกต่างให้กับคนกลุ่มใหญ่
เม่น : จริงๆ แล้วก็แปลกใจกับกระแสตอบรับเหมือนกัน เราไม่คิดว่าจะได้รับกระแสตอบรับที่ดี ซึ่งตอนที่เราพึ่งเริ่มคนที่เอาหนังมาฉายส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เรารู้จักมาก่อน แต่พอเราเริ่มทำเว็บไซต์ก็มีคนที่ไม่รู้จักเริ่มติดต่อเข้ามา ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่เราคุยกันไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มทำ BKKSR ว่าเราอยากจะสนับสนุน อย่างหนังสั้นเราก็จะยกส่วนที่เป็นโฆษณาก่อนหนังเริ่มให้เขาแทนที่จะเป็น Sponsor ส่งเข้ามาฉายฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย
หากคุณอยากแสดงผลงาน
มิ้ว : ตอนนี้สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ ซึ่งจะมีรายละเอียดทุกอย่าง คือจะให้ส่งหนังเข้ามาได้เลย อันนี้เป็นข้อดีของการเป็นโรงหนังอิสระเพราะว่าคุณสามารถเข้ามาคุยกับเราได้ มีอะไรมาเสนอกัน
เม่น : ในเว็บไซต์จะบอกรายละเอียดว่า ประเภทของหนังต้องเป็นยังไง ก็จะมีแบบฟอร์มให้กรอกรายละเอียด แล้วส่งลิงค์เกี่ยวกับหนังมาได้เลย แล้วเราจะเรียกมาคุย หรือจะเข้ามาคุยเลยก็ได้
เกณฑ์ในการเลือกหนังที่จะฉาย
มิ้ว : เอาเข้ามาดูก่อนเพราะว่ามันต้องมีมาตรฐาน เราขายตั๋วให้คนดู เราก็ต้องคัดเลือกนิดนึง ถ้าภาพมองไม่เห็น หรือเสียงไม่ได้ก็ต้องกลับไปแก้ไข เพราะว่าเราไม่อยากหักหลังคนดู เขาเสียเงินมาไม่ใช่ว่าจะเอาหนังอะไรก็ได้มาฉาย
เม่น : นอกเหนือจากนี้เรามีหนังที่เราคัดเลือกกันเองด้วย ซึ่งเป็นโปรแกรมหนัง BKKSR จัดฉายที่คุณนิคเป็นคนติดต่อไป
นิค : อย่าง Comrade Kim ก็เป็นหนังเกาหลีเหนือเรื่องแรกที่เข้ามาในไทย เป็นหนังที่พูดเกี่ยวกับผู้หญิง ซึ่งน้อยมากที่จะเห็นหนังเกาหลีเหนือเป็นคอมเมดี้และมีนักแสดงนำเป็นผู้หญิงเลยทำให้หนังเรื่องนี้ค่อนข้างแหวก แล้วนักแสดงทั้งเรื่องเป็นเกาหลีหมดเลยแต่มีโปรดักชั่นเป็นเยอรมัน อังกฤษ และเกาหลี
เรื่องที่สองคือเรื่อง Mad Tiger เป็นโปรดักชั่นมาจากอเมริกา เรื่องเกี่ยวกับวงดนตรีญี่ปุ่นที่ไปอยู่อเมริกามา 15-20 ปี เหมือนเป็นการฝ่าฟันอุปสรรคกับการอยู่ต่างประเทศซึ่งต้องทำแบนด์ของเขาให้มันเกิด
เรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ เราอยากจะให้เด็กไทยได้ดูหนังเรื่องนี้ หนังนอกกระแสที่ไปชนะที่เมืองคานส์แต่กลับไม่ได้ฉายในไทย
The Third Man เป็นหนังคลาสสิกอมตะมากตั้งแต่ยุค 40 เป็นแบบขาวดำซึ่งไม่เคยมี Subtitle มาก่อน คือเราไม่ได้ส่งเสริมแค่คนทำหนังเรายังส่งเสริมคนที่แปลหนังรุ่นใหม่ด้วย
รอบฉาย และ ราคาตั๋ว
มิ้ว : ตอนนี้เราคุยกันว่าจะปิดวันจันทร์ก่อน ซึ่งเราจะฉายวันธรรมดา 2 รอบ วันเสาร์-อาทิตย์ 4 รอบ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จะไม่น้อยไปกว่านี้มีแต่จะเพิ่ม
เม่น : มันเป็นช่วงทดลองตลาด วันธรรมดาเริ่มรอบแรกสัก 5 – 6 โมงเย็น รอบที่สอง 2 ทุ่มครึ่ง – 3 ทุ่ม ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์จะเริ่มประมาณ 10 โมงเช้า ซึ่งเป็นตารางที่เราเซ็ตไว้เพื่อทดลองก่อน ถ้ากระแสดีก็จะเพิ่มรอบ
การที่เราฉายคือเราทำถูกต้องตามระเบียบ ไม่ใช่ว่าอยากจะฉายเราก็ฉาย ถ้าเราเอาหนังเรื่องหนึ่งเข้ามาต้องมีการเจรจาตกลงกันก่อนว่าจะขายทั้งหมดกี่รอบ รอบไหน เวลาไหนบ้าง ซึ่งมันเป็นมาตรฐานสากลโลก เพื่อที่ทุกคนจะได้มีโอกาสในการฉายหนังเท่าๆ กันหมด
มิ้ว : ตั๋วราคา 300 บาท ซึ่งคนจะบอกว่าแพงมาก แต่ว่าสิ่งที่แตกต่างของคนที่เสียเงินเข้ามาดูคือเราจะเป็นระบบ Facility
เม่น : พูดตรงๆ ว่า 300 บาทต่อคนนี้ไม่ได้เยอะหรอกเพราะว่าเราจะให้คนทำหนัง 50 % แต่ถ้าคุณสมัคร Member Ship ก็จะไม่ใช่แค่ส่วนลดของค่าตั๋วแน่นอน ถ้าอยากพาเพื่อนมาปิดโรงดูหนังก็จะได้ส่วนลดไป
มิ้ว : Member Ship จะมีแค่ 1,000 ใบเท่านั้น เพราะว่าเราเป็นโรงหนังเล็กๆ แต่เราจะมีอะไรมากกว่านี้ในอีกหลายๆ ปีข้างหน้า ก็เลยทำโปรแกรมนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน ได้มาเจอกัน
มิ้ว : เริ่มขายวันที่ 1 สิงหาคม ที่เว็บไซต์หรือสามารถโทรมาได้ แต่รายละเอียดทุกอย่างจะอยู่ในเว็บไซต์
รายได้หลักของ BKKSR
มิ้ว : เราจะมีโซนที่สามารถมารถมาเช่าสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ
เม่น : จริงๆ แล้วรายได้หลักก็คือการขายตั๋ว ส่วนนั้นคือรายได้เสริมมากกว่า
มิ้ว : เรายังมีบาร์เล็กๆ สำหรับสังสรรค์กัน ซึ่งสามารถเอาเข้าไปในโรงหนังได้ไม่ว่ากัน แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
BKKSR ในอนาคต
นิค : อยากให้คนทั่วไปมองเราเป็นบ้านของคนทำหนังอิสระ เพื่อที่จะได้มาค้นคว้าแลกเปลี่ยนกัน ให้เขาได้รู้ว่าเขาไม่จำเป็นต้องส่งหนังไปฉายต่างประเทศเท่านั้น ที่บ้านของเขาก็มีสถานที่รองรับอยู่แค่ลองมาคุยกัน ซึ่งเราอยากจะเป็นบ้านของคนทำหนังได้ในอนาคตอันใกล้
เม่น : อยากให้เป็นชุมชนของคนรักหนัง ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เคยพูดกันว่าอยากจะมี Director talk เหมือนกับเป็นการแลกเปลี่ยน อย่างเวลาดูหนังเสร็จคนดูสามารถถามผู้กำกับได้ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้
มิ้ว : คือเราอยากเป็นสื่อกลางระหว่างคนทำหนังและคนดูให้เขาได้มาแลกเปลี่ยนกัน บางทีดูหนังแล้วไม่เข้าใจก็ให้เขาได้มีโอกาสสื่อสารกัน เพราะหนังแต่ละเรื่องที่เขาทำจะมีคอนเซปของเขา เขาทำให้คนมาดูก็คงอยากจะรู้ว่าคนดูคิดยังไง
มุมมองหนังไทย
มิ้ว : เราอยากให้มันมีมากกว่านี้
เม่น : ก่อนที่จะมาทำตรงนี้ หนังไทยที่เห็นกันอยู่ทั่วๆ ไป ไม่หนังผีไปเลยก็หนังตลก แต่พอได้เข้ามาทำตรงนี้ก็ทำให้เห็นหนังดีที่แตกต่าง จริงๆ แล้วเนื้อหามันดีไม่แพ้เมืองนอก เป็นหนังที่ภาพสวย เสียงดี นักแสดงดี
มิ้ว : หนังดีๆ บางเรื่อง มาแล้วไปแบบยังไม่รู้เลยเพราะว่ารอบฉายน้อยมาก และบางครั้งก็ได้รอบที่อยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ดี หรือโดนหนัง Box Master เบียดจนมีรอบฉายน้อย รู้สึกว่ามันไม่แฟร์
เม่น : จริงๆ มันมีเยอะมากที่ไม่ใช่หนังตลกหรือหนังผี แต่เป็นหนังที่สะท้อนปัญหาสังคมจริงๆ บางเรื่องดูแล้วน้ำตาไหลเลย
มิ้ว : นี่เป็นสิ่งที่เราเห็นในวงการหนังไทยแล้วเรารู้สึกเสียดาย อย่างสมัยก่อนก็จะมีโรงหนัง stand alone จากประเทศต่างๆ ที่ตอนนี้หาดูแบบนั้นไม่ได้แล้ว เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ทันเขาอาจคิดว่าโรงหนังมีแค่ไม่กี่ที่ ทางเลือกที่มีจึงน้อย
มุมมองหนังอิสระ
มิ้ว : คิดว่าหนังอิสระของต่างประเทศเขาไปไกลแล้ว เพราะเขามีทั้งทุนของรัฐบาลและอื่นๆ แล้วก็มีพื้นที่ฉายเป็นประจำ แล้วเหมือนกับว่าคนที่ทำหนังอิสระเมืองนอกจริงๆ สามารถเลี้ยงชีพได้ สำหรับเมืองไทยคิดว่าการที่เลี้ยงชีพตัวเองได้จากการทำหนังอิสระยังเป็นเรื่องที่ห่างไกล เหมือนคนไทยหยุดเดินมานานแล้วในเรื่องของการสนับสนุนหนังอิสระ มีความรู้สึกว่ามันแตกต่างกันมาก แล้วความน่ากลัวที่อาจจะเกิดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคนที่มีความสามารถด้านการทำหนัง อาจหลุดไปอยู่ในวงโคจรของอาชีพอื่นแทน
เม่น : ในมุมของคนไทยนะ เราไม่รู้ว่ามันมีหนังตรงนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยจนได้เข้ามาคลุกคลี อาจเพราะไม่มีส่วนไหนมาสนับสนุน เราเลยคิดว่าอยากจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยให้สังคมตรงนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
นิค : เทคโนโลยีและโซเชียลในช่วงที่ผ่านมามันโตเร็วมาก ด้วยเทคโนโลยีไม่ต้องมีอุปกรณ์ครบก็สามารถถ่ายหนังด้วยมือถือก็ได้ ทำให้มันมีสีสันในวงการมากขึ้น เชื่อว่าหนังอิสระไม่จำเป็นต้องฉายอยู่ตามเฟสติวัลปีละครั้งอย่างเดียว
ฝากถึงคนทำหนัง
มิ้ว : อยากให้ทำต่อไปค่ะแล้วเอามาดูกัน คิดว่าตอนนี้เทคโนโลยีมันไปไกลแล้ว ในเรื่องดีเทลก็อยากให้กลับไปมองReferenceเยอะๆ พยายามหาจุดยืนของสไตล์ตัวเองดีกว่าที่จะไปทำตามกระแส หรือคิดในแง่ของเม็ดเงินเกินไป
เม่น : ทุกวันนื้คนในประเทศฮิตกับการตามกระแสมาก ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็น กระแส เพราะงั้นอยากให้เป็นตัวของตัวเองหาจุดยืนในสังคมของตัวเอง ถ้าเรามีแนวทางของเราก็ทำไปไม่ต้องตามกระแสใคร ยังไงสุดท้ายก็ต้องมีคนเห็นอยู่ดี
นิค : อยากให้คนทำหนังรุ่นใหม่มีคนดูในประเทศเยอะๆ ดีกว่าที่จะไปส่งประกวดเมืองนอก อยากให้คิดถึงกลุ่มคนดูใกล้ตัวหรือจุดเริ่มต้นของตัวเองก่อน มองไปรอบๆ แล้วเอามาคิดเยอะๆ เกี่ยวกับคนดู