เราอาจคุ้นเคยกับสุนัขจรจัด…แต่เรารู้จักพวกเขาจริงๆ หรือเปล่า
ใน howl ฉบับจรจัด หรือ Stray with me เล่มนี้ เราขอพาทุกท่านไปพบกับข้อมูลเกี่ยวกับสุนัขจรจัดในประเทศไทยที่คุณควรทราบเพื่อที่จะได้รู้จักกับพวกเขามากขึ้น และสถานการณ์ของสุนัขรจรจัดในประเทศไทยปัจจุบันนี้ว่าเป็นอย่างไรกันแน่
บางที….ถ้าเรารู้จักกับพวกเขามากขึ้น
เราอาจจะรู้ก็ได้ว่าเราควรทำอะไรเพื่อพวกเขาดี…
คุณรู้หรือไม่ว่า….ผลการสำรวจจำนวนประชากรสุนัขประจำปี 2559 ของสำนักงานปศุสัตว์ทั่วประเทศ พบว่าในประเทศไทยมีสุนัขจำนวนทั้งหมด 6.7 ล้านตัว เป็นสุนัขมีเจ้าของกว่า 6.05 ล้านตัว และเป็นสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ 750000 ตัว
คุณรู้หรือไม่ว่า…กองสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพฯ ได้แบ่งสุนัขจรจัดออกเป็น 2 ประเภท คือ สุนัขกึ่งจรจัด หมายถึง สุนัขที่อยู่ตามชุมชนหรือถนน มีคนให้อาหารและคอยดูแลบ้าง และ สุนัขไม่มีเจ้าของ ซึ่งเป็นสุนัขไม่มีคนดูแลให้อาหารเลย ใช้ชีวิตหาอาหารอย่างอิสระตามธรรมชาติ
คุณรู้หรือไม่ว่า…สุนัขจรจัดเพศเมีย 1 ตัว สามารถให้กำเนิดลูกสุนัขประมาณ 20 ตัว ต่อ ปี หากทางภาครัฐและเอกชนยังไม่มีมาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง หลายคนคาดการณ์ว่าสุนัขจรจัดน่าจะเพิ่มปริมาณถึงหลัก 1 ล้านตัว ภายในปี 2560
คุณรู้หรือไม่ว่า…ข้อมูลจากทาง กทม. การเลี้ยงสุนัขจรจัด 6000 ตัวต่อปี ใช้ค่าเลี้ยงดูแบ่งได้ดังนี้้
ค่าอาหาร 500 ตัน = 12 ล้านบาท
ค่าวัคซีน 3 – 4 หมื่นโดส = 6 ล้านบาท
ค่าทำหมัน = 6.5 ล้านบาท
รวมเป็น 24.5 ล้านบาทต่อปี
คุณรู้หรือไม่ว่า…ศูนย์โรคติดเชื้อและโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า สุนัขจรจัด กว่า 40% ในปัจจุบัน มีเชื้อพิษสุนัขบ้า ซึ่งสุนัขทั้งหมดในประเทศไทยกว่า 7.4 ล้านตัว มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพียง 23%
คุณรู้หรือไม่ว่า…กทม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสุนัขจรจัดกว่า 4500 ครั้งต่อปี ผ่านสายด่วน 1555 โดยปัญหาที่ถูกร้องเรียนมามากที่สุดคือ พบสุนัขที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ตามมาด้วยปัญหาสุนัขจรจัดดุร้าย กัดคนอื่น และปัญหาเห่าหอนเสียงดังสร้างความรำคาญ
คุณรู้หรือไม่ว่า…ศูนย์พักสุนัขจรจัด อำเภอทัพทัน จังหวัดอุดรธานี สามารถรองรับสุนัขจรจัดสูงสุดที่ 8500 ตัว ตอนนี้มีสุนัขอยู่ประมาณ 5,500 ตัว ในขณะที่ทั่วประเทศมีสุนัขจรจัดในระบบกว่า 750,000 ตัว นอกจากนี้ยังมีศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดทั่วประเทศอีกหลายแห่ง เช่น ศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ซึ่งเป็นศูนย์ต้นแบบในการจัดการสุนัขจรจัดอย่างยั่งยืน
คุณรู้หรือไม่ว่า…หน่วยงานของไทยที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับสุนัขจรจัดคือ กรมปศุสัตว์ แต่ในปัจจุบันทางภาคส่วนท้องถิ่นได้เริ่มลงมือวางแนวทางการจัดการสุนัขในพื้นที่ตัวเอง (โดยเฉพาะทาง กทม.) ซึ่งยังคงเป็นข้อถกเถียงทางกฏหมายว่ามีอำนาจทำได้จริงหรือไม่
แต่อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ยังไม่มีแนวทางในการจัดการปัญหาสุนัขจรจัดอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากกรมปศุสัตว์มีภาระหน้าที่ต้องดูแลสัตว์เกือบทุกชนิดในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องสัตว์เศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถดูแลปัญหาสุนัขจรจัดได้อย่างเต็มที่