ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 13 หากเราได้ไปเดินเตร่ในตลาดค้าขายของประเทศแถบเอเชียกลางอย่างคาซัคสถานและทางตะวันตกของมองโกเลีย ก็คงจะได้เห็นผืนหนังสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่ชาวคาซัคและชาวเคอกิซในยุคสมัยนั้นใช้แทนเงินตราเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของ มันก็คือขนของ Corsac สุนัขจิ้งจอกตัวจ้อยแห่งทุ่งหญ้าสเตปป์และที่ราบกึ่งทะเลทรายอันเวิ้งว้าง
ชาวคาซัคสถานรู้จักพวกมันมาตั้งแต่ยุคสำริด แต่เริ่มมีการใช้ประโยชน์จากหนังและขนของพวกมันจริงๆ ก็ในช่วงยุคกลางนี่เอง ด้วยเพราะขนาดตัวที่เล็ก และน้ำหนักแค่ราว 3 กิโลกรัม จึงทำให้สุนัขจิ้งจอกสายพันธุ์นี้ กลายมาเป็นเหยื่อชั้นดีในเกมกีฬาล่าสัตว์ โดยชาวคาซัคจะใช้สุนัขพันธุ์ Kazakh Greyhound Tazi, นกเหยี่ยว Saker และนกอินทรีสีทองในการออกล่าหมาจิ้งจอก หรือแม้แต่ในประเทศรัสเซีย ก็มีการจับจ่ายหนังสัตว์ Corsac กันสูงถึง 40,000-50,000 ผืนในบางปี
ใบหน้าสีเทา ขนลำตัวออกสีเหลือง แซมด้วยขนสีขาวที่แผงอก ท้อง และขาหน้า ทำให้ดูแล้วเจ้า Corsac ก็ออกจะเป็นสุนัขจิ้งจอกที่น่ารักเอาการ พวกมันชอบใช้ชีวิตในแถบที่ราบเตียนโล่งหรือทะเลทรายมากกว่าจะอยู่ในป่าเขาที่มีพุ่มไม้รกชัฏ หาอาหารจำพวกสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก นก สัตว์เลื้อยคลาน หรือแมลงในช่วงฤดูร้อน ส่วนในฤดูหนาวจิ้งจอก Corsac ก็สามารถดำรงชีวิตได้โดยอาศัยการกินซากสัตว์ที่เหลือจากการล่าโดยพวกหมาป่าแทน ถึงกระนั้น พวกมันก็สามารถอยู่ได้โดยไร้เสบียงได้นานถึง 7-15 วันเลยทีเดียว ยิ่งวันใดที่อากาศหนาวจัด พวกมันก็จะขอซุกตัวอยู่ในโพรงรวมกันหลายๆ ตัว และอาจอยู่อย่างนั้น 2-3 วัน รอจนกว่าอากาศจะอบอุ่นพอให้ออกมารับไอแดดได้
ปัจจุบัน แม้ว่าเรายังคงสามารถพบสุนัขจิ้งจอก Corsac ได้ในประเทศเติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน คาซัคสถาน รวมทั้งทางตะวันตกเฉียงใต้ของไซบีเรียและรัสเซีย และยังคงอยู่ในสถานะที่ไม่ได้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงไม่มีโครงการรณรงค์หรืออนุรักษ์ใดๆ เกิดขึ้น แถมยังสามารถวางกับดักและล่าได้อย่างถูกกฎหมายในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมในประเทศดังกล่าว แต่ก็ยังคงมีรายงานการลดลงของประชากรจิ้งจอก Corsac อย่างรวดเร็วในบางปี กระทั่งเคยลดลงจนทำให้การล่าหนังสัตว์ของชาวคาซัคสถานต้องหยุดชะงักลงไปเมื่อปี ค.ศ.1928-1938 นอกจากนี้ในเขต Republic of Kalmykia ของรัสเซีย พื้นที่ทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในแถบนั้นก็ได้กลับกลายเป็นทุ่งหญ้าไปเสียแล้ว ทำให้เจ้าจิ้งจอก Corsac ต้องเสียบ้านหลังใหญ่ไปอีกแห่งหนึ่ง