Published on ISSUE 16
ส่วนชื่อสีสวาด (ภาษาอังกฤษคือสี silver blue) นั้น มาจากสีขนที่ออกเทาดังเมล็ดสวาด (เมล็ดพืชชนิดหนึ่ง) บ้างก็ว่าที่โคนขนเป็นสีเงิน ส่วนปลายขนเป็นสีทองราวหญ้าไม้กวาด ทำให้กลายเป็นแมวแห่งโชคลาภตามตำราแมวไทย

สีสวาด : แมวผู้บันดาลสายฝนแห่งโคราช

เรื่อง howl the team ภาพ : ชาพีช

วิลามาเลศพื้น                  พรรณกาย

ขนดังดอกเลาราย            เรียบร้อย

โคนขนเมฆมอปลาย        ปลอมเศวต

ตาดั่งน้ำค้างย้อย              หยาดต้อง สัตบง

 

เรามักคุ้นเคยกับชื่อแมวสีสวาดหรือว่าแมวโคราช แต่ทว่าหากเรามองหาชื่อสีสวาด หรือโคราช เราจะไม่พบอยู่ในตำราดูลักษณะแมวไทยโบราณ เนื่องเพราะพวกมันถูกจารึกไว้ในชื่อ “มาเลศ” หรือ “ดอกเลา” นั่นเอง

จากถิ่นกำเนิดที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จึงเป็นที่มาของชื่อแมวโคราช ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ส่วนชื่อสีสวาด (ภาษาอังกฤษคือสี silver blue) นั้น มาจากสีขนที่ออกเทาดังเมล็ดสวาด (เมล็ดพืชชนิดหนึ่ง) บ้างก็ว่าที่โคนขนเป็นสีเงิน ส่วนปลายขนเป็นสีทองราวหญ้าไม้กวาด ทำให้กลายเป็นแมวแห่งโชคลาภตามตำราแมวไทย บ้างก็ว่าขนเป็นสีฟ้าครึ้มราวเมฆฝน พวกมันจึงมักเป็นแมวที่ถูกใช้ในพิธีแห่นางแมว เพื่อขอฝนในยามหน้าแล้ง อีกทั้งดวงตาสีฟ้าราวน้ำค้างบนใบบัวเมื่อตอนพวกมันยังเด็ก และจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียวในตอนโต ก็เปรียบเหมือนท้องทุ่งกล้าพันธุ์อันอุดมสมบูรณ์ของชาวนาอีกด้วย

แมวสีสวาดได้เริ่มแพร่หลายไปสู่ต่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 โดย Mrs. Jean Johnson ผู้ติดตามสามีมาทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และได้นำแมวสีสวาดกลับไปเลี้ยงยังรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ถึงกับมีการก่อตั้งสมาคมผู้ที่นิยมแมวโคราชขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อปี พ.ศ. 2508 ต่อมาอีก 1 ปี นักผสมพันธุ์แมวโคราชและแมววิเชียรมาศ ชาวรัฐแมรีแลนด์ ได้นำแมวโคราชเข้าร่วมประกวดในงานประจำปีและได้รับรางวัลชนะเลิศ จนกลายเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปทั่วโลก ตั้งแต่อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส และแอฟริกาใต้ แถมพวกมันยังได้เป็นสัญลักษณ์นำโชคของการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2550 และเป็นฉายา “สวาดแคท (SWAT CAT)” หรือ “เจ้าแมวพิฆาต” ของสโมสรฟุตบอลนครราชสีมา มาสด้า อีกด้วย