ขนดำแซมเสวตรสิ้น สรรพภางค์
ขนคู่โลมกายบาง แบบน้อย
ทรงระเบียบสำอาง เรียวรุนห์ งามนา
ตาดั่งแสงหิ่งห้อย เปรียบน้ำ ทองทา
ในบรรดาแมวไทยทั้ง 6 สายพันธุ์ที่ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบันนั้น คงไม่มีพันธุ์ไหนหายากไปกว่า “แซมเสวตร” อีกแล้ว
แมวแซมเสวตรนั้นหากมองเผินๆ จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายแมวสีดำทั่วไป แต่หากมองให้ละเอียดแล้วจะพบว่ามีขนสีขาวแซมอยู่ตลอดตัว ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่ทำให้ถูกเรียกว่าแซมเสวตรหรือแซมสีขาวนั่นเอง นัยย์ตาของแมวพันธุ์นี้จะมีสีเขียวเรืองรองประดุจดั่งแสงหิ่งห้อยยามค่ำคืน เป็นที่งดงามแก่ผู้มาพบเห็นยิ่งนัก
แม้จะถูกบันทึกไว้ในตำราดูแมวและบันทึกสมุดข่อยก็ตาม แต่แมวแซมเสวตรก็ได้ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำและประวัติศาสตร์ไทยเป็นระยะเวลานาน จนหลายคนเชื่อกันว่าแมวไทยพันธุ์นี้ได้สูญพันธุ์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนกระทั่งในปี พ.ศ.2548 ได้มีการค้นพบแมวแซมเสวตรตัวแรกของไทย ชื่อว่า “แซม” โดยมีผู้ค้นพบคืออารีย์ อยู่บำรุง ประธานชมรมอนุรักษ์แมวสยาม โดยได้มาจากทางภาคใต้ (ปัจจุบันแซมได้เสียชีวิตแล้ว) ก่อนที่ในปี พ.ศ.2549 เขาก็ได้พบกับแมวแซมเสวตรตัวที่ 2 ชื่อว่า “โค้ก” ซึ่งยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน และตัวล่าสุดเป็นของ คุณวีระศักดิ์ สร้อยทอง ครูประจำโรเงรียนเทศบางวัดตองปุโบราณคณิสสร ตำบลบ้านเกาะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชื่อ “ข้าวตอก” ทำให้ในปัจจุบันนั้นพอจะกล่าวได้ว่าในประเทศไทยตอนนี้มีแมวแซมเสวตรจำนวนเพียงไม่กี่ตัว จึงนับว่าเป็นแมวไทยโบราณที่หายากที่สุดในขณะนี้
ที่น่าสนใจที่สุดคือมีบางคนแย้งว่าแมวแซมเสวตรนั้นอาจไม่มีอยู่จริง ด้วยการตั้งข้อสันนิษฐานว่าลักษณะขนสีขาวแซมนั้นอาจเกิดจากความผิดปกติที่เรียกว่า “Fever Coat” โดยเป็นความผิดปกติตอนที่แม่แมวท้องแล้วมีไข้อาจจะส่งผลให้การสร้างเม็ดสีที่ขนของลูกแมวผิดปกติจนกลายเป็นลักษณะสีขาวแซม ซึ่งในแมวสีดำจะเห็นชัดมากที่สุด รวมไปถึงแมวโตแล้วหากเป็นไข้ ถูกกัด ร่างกายอ่อนแอ ก็อาจจะเกิดภาวะขนสีขาวแซมได้เช่นกัน ซึ่งตรงจุดนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดและคงต้องรอการพิสูจน์ต่อไป
ว่าสุดท้ายแล้วแมวแซมเสวตรมีอยู่จริง….หรือเป็นเพียงความเข้าใจผิดของคนสมัยโบราณกันแน่