Published on ISSUE 16
เมื่อสมัยเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 แมวไทยก็ได้ถูกทหารพม่านำกลับไปด้วยเพราะเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินมีค่า เนื่องจากในสมัยอยุธยามีการซื้อขายแมวกันถึง 1 แสนตำลึงทองเลยทีเดียว และนี่จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้แมวไทยโบราณทยอยสูญพันธุ์ไป

วิเชียรมาศ : เพชรแห่งจันทราไทย

เรื่อง howl the team ภาพ : ชาพีช

ปากบน หาง สี่เท้า                        โสตสอง

แปดแป่งดำดุจปอง                       กล่าวไว้

สีเนตรดั่งเรืองรอง                         นาคสวาดิ ไว้เอย

นามวิเชียรมาสไซร้                       สอดพื้นขนขาว

 

บทโคลงข้างต้นมีปรากฎอยู่ในสมุดข่อยโบราณที่ถูกตีพิมพ์ขึ้นเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทฺธสรมหาเถระ (นวม) โดยใช้ชื่อว่า “ตำราดูลักษณะแมว (วิฬาร์) ของวัดอนงคาราม” ดังคำนำที่ปรากฎไว้ในตอนต้นว่าไม่ปรากฎหลักฐานของผู้แต่งหรือผู้รวบรวม ทว่า ถือเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่มีการกล่าวถึงลักษณะของแมวไทยโบราณทั้ง 23 ชนิด เป็นแมวมงคล 17 ชนิด และแมวอวมงคล 6 ชนิด ซึ่งนอกจากตำราดูลักษณะแมวของวัดอนงคารามแล้ว ยังมีตำราดูแมวไทยโบราณอีกหลายฉบับรวมถึงแบบฉบับสมุดข่อยถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติอีกด้วย แต่โดยรวมแล้วเนื้อหานั้นมีความใกล้เคียงกัน

ในตำราดูแมวไทยได้จดบันทึกชื่อแมวพันธุ์นี้ไว้ว่า “วิเชียรมาส” จะสังเกตได้ว่า “มาส” ซึ่งแปลว่าพระจันทร์ สะกดแตกต่างจาก “มาศ” คำที่เราเห็นในปัจจุบันที่แปลว่าทอง ส่วนคำว่า “วิเชียร” แปลว่าเพชร ทำให้ชาวต่างชาติขนานนามแมวสายพันธุ์นี้ว่า “Moon Diamond” หรือเพชรแห่งดวงจันทร์ และกลายเป็นแมวอันโด่งดังจากสยามประเทศ หรือ “Siamese Cat” นั่นเอง แมวชนิดนี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นแมวเก้าแต้ม แต่ที่จริงแล้วไม่ถูกต้อง เพราะแมวเก้าแต้มคือแมวที่มีสีพื้นขาวและมีแต้มบนร่างกาย 9 แห่ง เหตุที่มักเข้าใจผิดเพราะแมววิเชียรมาศ จะมีพื้นสีงาช้าง และมีแต้มที่จมูกครอบไปถึงปากเป็นหนึ่งแห่ง กับขาทั้งสี่ หูสอง หางหนึ่ง และที่อวัยวะเพศอีกหนึ่ง รวมเป็น 9 แห่งเช่นกัน ซึ่งสีแต้มของแมววิเชียรมาศนี้ ตามตำรากล่าวไว้ว่า ต้องเป็นสีดำดังหมึกวาด แต่ปัจจุบันมักจะเป็นแต้มสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ หรือที่ต่างประเทศเรียกว่า “Seal Brown” หรือแต้มสีครั่งนั่นเอง

แมววิเชียรมาศ เป็นแมวโบราณที่มีลักษณะเด่นมากที่สุดในบรรดาสายพันธุ์อื่นๆ เพราะมีดวงตาสีฟ้าสวยงาม หรือที่ตามตำรากล่าวเปรียบไว้ว่าเป็นเกล็ดพญานาค นิยมเลี้ยงกันในเหล่าเชื้อพระญาติพระวงศ์ ในบรมมหาราชวังแต่ครั้งสมัยอยุธยา ต่อมาเมื่อสมัยเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 แมวไทยก็ได้ถูกทหารพม่านำกลับไปด้วยเพราะเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินมีค่า เนื่องจากในสมัยอยุธยามีการซื้อขายแมวกันถึง 1 แสนตำลึงทองเลยทีเดียว และนี่จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้แมวไทยโบราณทยอยสูญพันธุ์ไป จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงพระราชทานแมวไทยวิเชียรมาศ 1 คู่ เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรีระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2427 แก่นาย Owen Gould กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพมหานคร ต่อมาแมวไทยคู่นี้ถูกส่งเข้าประกวดที่ The Crystal Palace กรุงลอนดอน ผลปรากฏว่าได้รางวัลชนะเลิศ ทำให้ชาวอังกฤษพากันตื่นเต้นและหันมานิยมเลี้ยงแมวไทยกันมากขึ้น จนถึงขั้นตั้งเป็นสโมสรแมวไทยเมื่อปี พ.ศ. 2443 ใช้ชื่อว่า The Siamese Cat Clubs และสมาคมแมวไทยแห่งจักรวรรดิอังกฤษ หรือ The Siamese Cat Society of the British Empire ในปี พ.ศ. 2471

นับว่านั่นอาจเป็นการสร้างชื่อของแมวไทยครั้งแรกในเวทีประกวดแมวระดับนานาชาติ และทำให้ชื่อของแมววิเชียรมาศโด่งดังไปทั่วโลกจนเป็นที่นิยมเลี้ยงทั้งในหมู่คนไทยและต่างประเทศตั้งแต่นั้นสืบมาจนถึงทุกวันนี้