Published on ISSUE 16
สาเหตุหนึ่งในการตั้งชื่อใหม่เป็น “วิฬาร์กรุงเทพ” ก็เพื่ออ้างสิทธิ์ในความเป็นไทยแท้ ที่มีต้นกำเนิดพันธุกรรมที่พบได้มากในกรุงเทพฯ ซึ่งหากสังเกตจะพบว่าแมวทั่วโลกส่วนมากมักจะถูกตั้งชื่อตามชื่อเมืองหรือประเทศ เพื่ออ้างสิทธิ์ความเป็นประเทศนั้นๆ

วิฬาร์กรุงเทพ : เผยโฉมสายเลือดไทยพันธุ์ใหม่

เรื่อง howl the team ภาพ : ชาพีช

หากกล่าวถึงแมวไทยเราคงคิดถึงสายพันธุ์แมวที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

แต่คุณอาจต้องแปลกใจเพราะเราได้มีการค้นพบแมวไทยสายพันธุ์ใหม่ขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2557 นี้เอง โดยแมวไทยสายพันธุ์ใหม่นี้ใช้ชื่อว่า “วิฬาร์กรุงเทพ”

วิฬาร์กรุงเทพ เป็นสายพันธุ์แมวไทยที่ถูกค้นพบล่าสุด โดยตัวแรกถูกพบอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นแมวจรที่อาศัยอยู่แถวๆ สีลม ต่อมายังพบแมวอีก 15 ตัวในเขตกรุงเทพฯ กระจายอยู่คนละแห่งและไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกันแต่อย่างใด รวมไปถึงยังพบอีกหลายตัวตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย เมื่อได้ทำการศึกษาวิจัยจนรู้ว่าแมวไทยสายพันธุ์นี้ไม่ตรงกับ DNA ของแมวชนิดใดบนโลก รวมถึงการตรวจพันธุกรรมก็ไม่พบพันธุกรรมใดๆ ที่เหมือนกับแมวชนิดอื่นๆ จึงทำให้ทราบว่านี้อาจเป็นแมวไทยสายพันธุ์ใหม่ ปัจจุบันกำลังมีโครงการตามหาแมวพันธุ์นี้ ซึ่งตอนนี้พบประมาณ 25 ตัวแล้ว

ตอนเริ่มแรกวิฬาร์กรุงเทพ ถูกเรียกกันอย่างง่ายๆ ในชื่อ แมวมอคค่า เนื่องจากสอดคล้องกับยีนส์สีขนที่มีลักษณะสีคล้ายเครื่องดื่มมอคค่า ซึ่งชื่อมอคค่านี้มาจากชาวต่างชาติที่สนใจแมวพันธุ์นี้ในไทยด้วยเช่นกัน แต่ทางกลุ่มนักวิจัยแมวไทยคิดว่าชื่อนี้ยังไม่เหมาะสมและได้เปิดโหวตชื่อใหม่ให้กับแมวพันธุ์นี้

จนเมื่อวันที่ 5 กุมพาพันธ์ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศเปลี่ยนชื่อจากแมวไทยมอคค่าเป็น แมววิฬาร์กรุงเทพ โดยคำว่า วิฬาร์ ในภาษาบาลี-สันสกฤต หมายถึง แมว ส่วนคำว่า กรุงเทพ ก็คือเมืองหลวงของไทยในปัจจุบัน และเลิกใช้ชื่อแมวมอคค่าโดยถาวร

สาเหตุหนึ่งในการตั้งชื่อใหม่เป็น “วิฬาร์กรุงเทพ” ก็เพื่ออ้างสิทธิ์ในความเป็นไทยแท้ ที่มีต้นกำเนิดพันธุกรรมที่พบได้มากในกรุงเทพฯ ซึ่งหากสังเกตจะพบว่าแมวทั่วโลกส่วนมากมักจะถูกตั้งชื่อตามชื่อเมืองหรือประเทศ เพื่ออ้างสิทธิ์ความเป็นประเทศนั้นๆ

ลักษณะของแมววิฬาร์กรุงเทพนั้น จะมีดวงตาโทนสีฟ้า สีฟ้าอมเขียว หรือสีเขียวอมเหลือง จุดเด่นอยู่ที่ขนมีสีน้ำตาลทอง ปลายจมูกมีสีชมพู แต่สันจมูกนั้นมีสีเข้มคล้ายแมวใส่หน้ากาก มีรอยแต้ม 9 แห่ง แบบแมววิเชียรมาศ แต่จะเป็นสีจางมากๆ รอบดวงตาเป็นวง มีสีซีดคล้ายแมวใส่แว่น อุ้งเท้าสีชมพู

แต่อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของแมววิฬาร์กรุงเทพในตอนนี้เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ยังคงต้องมีการสำรวจประชากร และนำตัวอย่างแมววิฬาร์กรุงเทพเพื่อตรวจสอบ DNA กันต่อไปอีกหลายกระบวนการเพื่อยืนยันว่าสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ใหม่จริงๆ

แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็น่าจะแสดงให้เราเห็นว่า แมวพันทางหรือพันธุ์ผสมที่เราเห็นกันจนชินตาทุกวันนั้น แท้จริงแล้วอาจจะเป็นแมวสายพันธุ์ใหม่แอบซุกซ่อนอยู่ก็เป็นได้ เหมือนกับภูมิปัญญาของไทยที่ยังคงหลบซ่อนอยู่ เพียงแต่ว่าเราพร้อมจะหยิบมันขึ้นมาปรับปรุงดัดแปลง

เพื่อให้เข้าโลกยุคสมัยใหม่อย่างไรดี