พยาธิหรือปรสิตในร่างกายของสุนัขและแมวมีมากมายหลายชนิด แต่หลาย ๆ ครั้งที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงมักจะสับสน โดยเฉพาะเมื่อได้ยินคำว่าพยาธิ เมื่อไปพบสัตวแพทย์ บางท่านอาจไม่เข้าใจว่าทำไมคุณหมอต้องทำการป้องกันพยาธิด้วยหลายวิธีการ ทำไมถึงหยดยาไปแล้วแต่ต้องกินยาถ่ายพยาธิด้วย? ที่ป้องกันไปมันไม่ใช่การป้องกันพยาธิหรือ? ตกลงพยาธิคืออะไรกันแน่? หลายคำถามที่เกิดขึ้นเนื่องจากเรายังไม่รู้จักพยาธิในสัตว์เลี้ยงทำให้ขาดการดูแล และป้องกันที่ถูกวิธี
ปรสิตที่พบได้ในสุนัขและแมวมีหลายชนิด ได้แก่
1. ปรสิตที่อยู่ภายนอกร่างกาย เช่น เห็บ หมัด ไร
2. ปรสิตที่อยู่ภายในร่างกาย เช่น พยาธิหนอนหัวใจ พยาธิในเม็ดเลือด และพยาธิในทางเดินอาหาร
แต่ที่มักสับสนกันก็ได้แก่พยาธิทั้ง 2 แบบนี้ เนื่องจากใช้คำว่าพยาธิเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้ววงจรชีวิต การติดต่อ การก่อโรคนั้นมีความแตกต่างกัน
เริ่มต้นจากคำว่า ”พยาธิภายในร่างกาย” ได้แก่สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ภายในร่างกาย และใช้ชีวิตแบบปรสิต ส่งผลเสียต่อระบบภายในร่างกาย โดยจะแบ่งย่อยตามแหล่งที่ตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ แบ่งออกเป็น พยาธิในเลือด และพยาธิในทางเดินอาหาร
1. พยาธิในเลือด
พยาธิในเลือดตัวเด่นหรือพระเอกที่พบได้บ่อยทำให้เกิดโรคได้ในสุนัขและอาจจะเกิดได้ในแมวด้วย นั่นก็คือ “พยาธิหนอนหัวใจ” พยาธิชนิดนี้ มีพาหะคือยุง โดยยุงจะดูดเลือดสุนัขที่มีตัวอ่อนระยะแรก (L1) ตัวอ่อนจะพัฒนาและเข้าสู่ต่อมน้ำลายยุง เมื่อยุงที่มีเชื้อนี้จะไปกัดสุนัขและแมว ทำให้ได้รับเชื้อ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระแสเลือด พัฒนาเป็นตัวเต็มวัยและอาศัยอยู่ในห้องหัวใจ เมื่อตัวแก่แพร่พันธุ์ ตัวอ่อน (L1) ที่เกิดขึ้นจะอยู่ในกระแสเลือด และต้องมียุงมากัดเพื่อพัฒนาและเข้าสู่วงจรชีวิตต่อไป ตัวแก่ที่อาศัยอยู่ในห้องหัวใจนั้นจะทำให้สุนัขและแมวป่วยเนื่องจากขัดขวางการไหลเวียนเลือด อาการที่พบได้แก่ อาการของโรคหัวใจ ไอ หอบ เหนื่อยง่าย เสียชีวิตในที่สุด ส่วนในแมวอาการจะจะรุนแรงกว่าสุนัขและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
พยาธิในเลือดอีกชนิดที่พบบ่อยได้แก่ “พยาธิในเม็ดเลือด” สามารถก่อโรคได้ในทั้งสุนัขและแมว ในสุนัขมีเห็บเป็นพาหะส่วนในแมวมีหมัดเป็นพาหะนำโรค พยาธิในเม็ดเลือดจะไปอาศัยอยู่ที่เม็ดเลือด และทำลายเม็ดเลือด โดยจะทำให้เกิดภาวะหลักๆ คือ เลือดจาง เกล็ดเลือดต่ำ มีความผิดปกติในเรื่องการแข็งตัวของเลือด โรคนี้สามารถติดต่อได้ง่าย ในบางตัวที่เลือดจางรุนแรงอาจจะจำเป็นต้องถ่ายเลือด แต่หากทำการรักษาไม่ทันสามารถทำให้เสียชีวิตได้
2. พยาธิในทางเดินอาหาร
ตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร สามารถแบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด ได้แก่ พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า และพยาธิตัวตืด ส่วนใหญ่มักติดต่อโดยการกินไข่พยาธิ หรือพยาธิตัวอ่อนไชผ่านผิวหนัง วงจรชีวิตจะแยกย่อยไปตามชนิด สร้างความเสียหายแก่อวัยวะได้หลายส่วนเนื่องจากอาจจะมีการไชเพื่อพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะต่าง ๆ แต่สุดท้ายแล้ว ตัวเต็มวัยจะอาศัยและวางไข่อยู่ในทางเดินอาหาร สุนัขจะเจริญเติบโตช้า ผอม ขนหยาบ เกิดภาวะเลือดจางจากการเสียเลือด เนื่องจากพยาธิดูดกินเลือด สร้างความระคายเคืองกับทางเดินอาหาร อุดตันทางเดินอาหารรวมทั้งแย่งสารอาหารที่จำเป็นด้วย โดยหากเป็นอย่างรุนแรงจะทำให้ลูกสุนัขและแมวเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน
เห็นหรือไม่ว่า ทั้งพยาธิในเม็ดเลือด พยาธิหนอนหัวใจและพยาธิในทางเดินอาหารนั้นมีความแตกต่างทั้งวงจรชีวิต การติดต่อ การก่อโรค อาการที่แสดง ซึ่งไม่ยากเกินความเข้าใจ เมื่อเรารู้แล้วก็จะสามารถป้องกันได้อย่างถูกวิธี และครบถ้วนตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพียงรู้จักพยาธิชนิดต่าง ๆ ที่สามารถพบและก่อโรคในสัตว์เลี้ยง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์เลี้ยงและครอบครัวของเรา