พยาธิหนอนหัวใจ เป็นปรสิตวายร้ายที่ค่อยๆ คืบคลานมาทำให้สัตว์เลี้ยงของเราเกิดความเจ็บป่วย ซึ่งกว่าเราจะรู้ตัวอีกที ก็มักแสดงอาการโรครุนแรงแล้ว เนื่องจากมีพยาธิหนอนหัวใจอาศัยอยู่ในห้องหัวใจของสัตว์เลี้ยงของเราจำนวนมาก ด้วยเหตุที่ว่า วงจรชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจ ต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนในการเจริญเติบโต และพัฒนาเป็นตัวอ่อนแต่ละระยะ (L1-L4) จนกลายเป็นตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในห้องหัวใจ แต่โชคร้ายไปกว่านั้นสัตว์เลี้ยงบางตัวอาจไม่มีโอกาสในการรักษาให้หายได้ เนื่องจากหากมีพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยแค่เพียงตัวเดียว ก็สามารถทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน
มาดูกันว่าเราสามารถพาสัตว์เลี้ยงของเราไปตรวจ หรือสังเกตอะไรได้บ้าง หากสัตว์เลี้ยงของเรามีพยาธิหนอนหัวใจอาศัยอยู่ในร่างกายแล้ว
- สังเกตจากอาการ โดยส่วนใหญ่เป็นอาการคล้ายกับอาการของโรคหัวใจ เนื่องจากพยาธิหนอนหัวใจไปขัดขวางการบีบตัว และการทำงานปกติของหัวใจ อาการที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายได้ไม่นาน ไม่กระตือรือร้น หอบ หายใจลำบาก ไอแห้งๆ ท้องกาง เยื่อเมือกซีด หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
- ตรวจเลือดเพื่อหาตัวอ่อนพยาธิ การตรวจเลือดเพื่อหาตัวอ่อนที่อยู่ในกระแสเลือดสัตว์เลี้ยง โดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ หากตรวจพบก็เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า มีตัวเต็มวัยของพยาธิหนอนหัวใจที่ปล่อยลูกหลานออกมาแล้ว
- ตรวจเลือดเพื่อหาชิ้นส่วนจากพยาธิ ในบางกรณีตรวจไม่พบตัวอ่อนที่อยู่ในกระแสเลือด อาจมีการตรวจด้วยวิธีนี้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง
- อัลตราซาวด์หัวใจและการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การแปลผลจากสองวิธีนี้ก็อาจแสดงให้เรารู้ว่ามีตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจอยู่ในหัวใจห้องขวาล่างของสัตว์เลี้ยงของเราหรือไม่
อย่างไรก็ตามการตรวจพบสิ่งเหล่านี้ เท่ากับว่าสัตว์เลี้ยงของเราหนีไม่พ้นภัยร้ายจากพยาธิหนอนหัวใจแล้ว ซึ่งการรักษาโดยส่วนใหญ่ จะมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้ด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะต้องให้ความสำคัญคือ การป้องกันอย่างสม่ำเสมอ ก่อนที่พยาธิหนอนหัวใจจะพัฒนาไปสู่ตัวเต็มวัย โดยการเลือกใช้ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจที่ได้รับการรับรองโดยสัตวแพทย์ ที่สามารถฆ่าตัวอ่อนได้ทุกระยะ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของเราปลอดภัยจากภัยเงียบเหล่านี้