ปัญหาที่ยังคงเป็นปริศนาลึกลับของโลกแมว นั่นก็คือการ purr
จนถึงในปัจจุบัน นักสัตววิทยาก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเหตุใดแมวจึงส่งเสียงครางแบบสั่นเครือ หรือที่เราเรียกว่าเสียง “purr” ออกมา แต่ที่แน่ๆ ลูกแมวที่อายุเพียง 2-3 วัน ก็สามารถส่งเสียงเช่นนี้ได้แล้ว นั่นอาจเป็นเพราะพวกมันต้องการบอกให้แม่แมวรู้ว่า “หนูอยู่ตรงนี้นะแม่”
ในอดีต เราเคยสันนิษฐานว่า เสียง purr นี้อาจมาจากการไหลเวียนของเลือดภายในหลอดเลือด inferior vena cava แต่ปัจจุบันถูกพิสูจน์แล้วว่าเสียง purr เกิดจากการหดตัวของเส้นเสียงและกล้ามเนื้อกล่องเสียง (แมวที่มีอาการกล่องเสียงอัมพาต จะไม่สามารถส่งเสียง purr ได้) โดยร่วมกับจังหวะการหายใจเข้าและออกอย่างต่อเนื่อง แตกต่างจากการเปล่งเสียงร้อง “เหมียว” ที่จะเปล่งออกมาในช่วงจังหวะการหายใจออกเท่านั้น ซึ่งกระบวนการ purr ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการปรากฏของคลื่นสมอง (neural oscillation หรือ brainwaves) รูปแบบพิเศษเป็นตัวสั่งการ แต่ก็ยังหาคำอธิบายไม่ได้
และแมวก็ไม่ใช่สัตว์โลกเพียงสปีชีส์เดียวด้วย ที่สามารถส่งเสียง purr ออกมาได้ เพราะแม้แต่พวก หมี แบดเจอร์ สุนัขจิ้งจอก กระรอก หนูตะเภา กระต่าย ลีเมอร์ หรือแม้แต่กอริลล่า ก็สามารถ purr ได้เหมือนกัน!
เมื่อลูกแมวโตขึ้น เสียง purr ของแมวโตก็ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิชาการว่า แมว purr เพราะอะไร? บ้างก็ว่า purr เมื่อแมวมีความสุข หรือ purr เพื่อทำความรู้จักกับแมวตัวอื่น หรือ purr เมื่อแมวเริ่มเครียด ได้รับบาดเจ็บ กระทั่งมีบางทฤษฎีพยายามอธิบายว่า เสียง purr ในช่วงความถี่ต่ำๆ ถือเป็นกระบวนการที่แมวใช้เยียวยาอาการเจ็บป่วยด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังมีการค้นพบเสียง purr รูปแบบใหม่ที่นักวิจัยเรียกว่า “solicitation purr” เป็นเสียงสั่นที่ถี่มากกว่าปกติ เทียบคล้ายกับการร้องไห้แบบเด็กๆ เหมือนเป็นการอ้อนในภาษาแมวว่า “มาโอ๋ฉันหน่อย”
อย่างไรก็ตาม เสียง purr เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งใน 16 รูปแบบเสียง ที่แมวใช้ในการสื่อสาร ซึ่งเหล่านั้นก็ยังห่างไกลจากการเข้าใจของมนุษย์ในปัจจุบันเหลือเกิน จนคิดว่าอาจต้องรอให้โดราเอม่อนเอาวุ้นแปลภาษาแมวมาให้ที…
ดังนั้น พวกเราที่เลี้ยงแมวทุกๆ คน คงต้องคอยเงี่ยหูฟังลูกแมวที่บ้านเอาไว้ให้ดีๆ มาช่วยกันสังเกตและเก็บข้อมูลหน่อยซิว่า…แมว purr เพราะอะไรกันแน่?