พยาธิในทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยและมีความสำคัญในแมว คือ พยาธิตัวตืด พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ พยาธิตัวแบน เป็นต้น เราอาจจะเข้าใจว่า พยาธิในทางเดินอาหาร ต้องอาศัยอยู่แต่ในลำไส้ คอยแย่งอาหารในลำไส้ของน้องแมวเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว พยาธิในทางเดินอาหารบางชนิด มีระยะการเจริญเติบโตที่ไม่ได้อยู่เพียงแค่ในลำไส้ เช่น พยาธิตัวกลม (Toxocara cati)
หลังจากที่แมวกินไข่พยาธิที่ปนเปื้อนตามสิ่งแวดล้อมเข้าไปแล้ว ตัวอ่อนของพยาธิจะฟักออกจากไข่ภายในลำไส้ ตัวอ่อนสามารถเคลื่อนผ่านจากผนังลำไส้ไปยังอวัยวะภายในอื่นๆ (เช่น ตับ ปอด) ตัวอ่อนของพยาธิสามารถเข้าไปอยู่ตามหลอดเลือด และเดินทางตามกระแสเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ หรือกล้ามเนื้อได้ ตัวอ่อนพยาธิที่อยู่ในปอด ยังสร้างความเสียหายต่อระบบทางเดินหายใจได้อีกด้วย ตัวอ่อนพยาธิสามารถไชผ่านทะลุผนังของถุงลมได้ และเข้าสู่ทางเดินอากาศในปอด ทำให้เกิดการระคายเคือง กระตุ้นให้เกิดอาการไอ และทำให้มีการกลืนตัวอ่อนกลับเข้าสู่ทางเดินอาหาร เมื่อตัวอ่อนเข้าสู่ทางเดินอาหารจะเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวเต็มวัย และมีการผสมพันธุ์กันเกิดขึ้น พยาธิตัวเต็มวัยเพศเมียจะสามารถไข่และขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเป็นวงจรของพยาธิต่อไป หากแมวที่ติดพยาธิชนิดนี้กำลังตั้งท้องอยู่ด้วยนั้น ตัวอ่อนพยาธิชนิดนี้ยังสามารถเดินทางผ่านหลอดเลือดไปยังต่อมน้ำนมได้ เมื่อแม่แมวคลอดลูก และลูกแมวดูดกินนมแม่ ก็สามารถติดตัวอ่อนพยาธิชนิดนี้ผ่านทางน้ำนมได้เช่นกัน1
นอกจากนี้ ยังมีพยาธิอีกชนิดหนึ่ง คือพยาธิปากขอ (Ancylostoma spp.) ไข่ของพยาธิที่ปนออกมากับอุจจาระจะมีตัวอ่อนของพยาธิอยู่ภายใน ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ จะปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม แมวสามารถติดพยาธิชนิดนี้ได้ 2 ทาง คือ จากการกินตัวอ่อนและติดพยาธิชนิดนี้เข้าสู่ทางเดินอาหารโดยตรง หรือตัวอ่อนของพยาธิปากขอนี้ ไชผ่านรูขุมขนที่ผิวหนัง และเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านระบบเลือดหรือน้ำเหลืองเพื่อไปยังทางเดินอาหาร หรือเนื้อเยื่ออื่นๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อได้ด้วย2,3
จะเห็นได้ว่า การติดพยาธิในทางเดินอาหารของแมว ไม่ได้หมายความว่าจะมีพยาธิอาศัยอยู่แค่ในลำไส้ของแมว ดังนั้น การป้อนยาถ่ายพยาธิชนิดกิน ตัวยาจะออกฤทธิ์ฆ่าพยาธิได้เพียงแค่ในทางเดินอาหารเท่านั้น ส่วนยาถ่ายพยาธิแบบหยดหลัง สำหรับแมว ที่ประกอบด้วยตัวยาสำคัญ 2 ชนิด คือ Emodepside และ Praziquantel ตัวยา Emodepside ที่ออกฤทธิ์กับพยาธิตัวกลม และพยาธิปากขอ จะดูดซึมจากผิวหนังผ่าน follicular pathway ที่มีมากบนผิวหนังของแมว ตัวยาส่วนหนึ่งกระจายตัวไปยังทางเดินอาหารเพื่อออกฤทธิ์กับพยาธิในลำไส้ ส่วนตัวยาอีกส่วนหนึ่งจะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อไขมัน และค่อยๆ ปล่อยตัวยาออกมาสู่กระแสเลือดที่ไปยังอวัยวะต่างๆ ทำให้ยาถ่ายพยาธิแบบหยดหลังนี้ สามารถออกฤทธิ์ฆ่าพยาธิได้ทุกระยะจากการหยดหลังเพียงครั้งเดียว2,3,4 แม้ว่าพยาธิจะไม่ได้อยู่ในลำไส้ก็ตาม
ที่สำคัญ แมว ควรได้รับการถ่ายพยาธิอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี หรือทุกๆ 3 เดือน หรือควรถ่ายพยาธิเป็นประจำตามดุลยพินิจของสัตวแพทย์ (ตามคำแนะนำของ European Scientific Counsel for Companion Animal Parasites, ESCCAP)
เอกสารอ้างอิง
Reinemeyer CR, Charles SD, Buch J. 2005. Evaluation of the efficacy of emodepside plus praziquantel topical solution against ascarid infections (Toxocara cati, Toxascaris leonine). Parasitol Res 97:S41-S50
Altreuther G, Buch J, Charles S, Davis W, Krieger KJ, Radeloff I. 2005. Field evaluation of the efficacy and safety of emodepside/praziquantel spot-on solution against naturally acquired nematode and cestode infections in domestic cats. Parasitol Res 97: S58-S64
Altreuther G, Borgsteede FHM, Buch J, Charles S, Cruthers L, Epe C, Young D, Krieger KJ. 2005. Efficacy of a topically administered combination of emodepside and praziquantel against mature and immature Ancylostoma tubaeforme in domestic cats. Parasitol Res 97:S51-S57
Schaper R, Altreuther G, Hopkins T. 2007. Efficacy of emodepside plus praziquantel topical solution against immature stages of nematodes (Ancylostoma sp. and Toxocara sp.) in cats. Parasitol Res 101:S63-S68