กระบือบำบัด หรือควายบำบัด อ่านแล้วคงจะอดสงสัยไม่ได้ว่า มีด้วยเหรอ… คำตอบคือ มีอยู่จริง และต้องบอกว่าเป็นการบำบัดที่น่าสนใจมาก เพราะมีการนำมาใช้บำบัดกันน้อย
จุดเริ่มต้นของกระบือบำบัด เริ่มที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี ได้นำควายเข้ามาใช้ในการบำบัดเพื่อฝึกพัฒนาการของเด็กพิเศษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยเปิดให้บริการกับประชาชนทั่วไป ควายที่ใช้ในการบำบัดจะได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี และมีครูฝึกที่เป็นทหาร จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีอันตรายต่อผู้ที่เข้ารับการบำบัดรูปแบบของการบำบัดจะเริ่มจากการที่ให้ทำความคุ้นเคยด้วยการให้อาหาร แล้วจะเริ่มพาขี่หลังควายไปยังที่ต่างๆ ครูฝึกจะชวนคุยไปด้วยเพื่อที่จะฝึกให้ออกเสียง
เมื่ออยู่บนหลังควายจะได้ฝึกทักษะการเคลื่อนไหวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมควายด้วยการใช้มือ เท้า หรือฝึกการทรงตัว โดยการนั่ง นอน เหยียดตัว ถือว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศจากในห้องบำบัดสี่เหลี่ยมเดิมๆ มาอยู่กลางทุ่งนาสีเขียวแทน ทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดรู้สึกอยากที่จะทำกิจกรรมมากขึ้น
นอกจากกิจกรรมแบบลุยๆ แล้ว ยังมีกิจกรรมเบาๆ อีกด้วย อย่างการทำศิลปะเกี่ยวกับควาย วาดรูป ระบายสี ต่อจิ๊กซอว์รูปควาย มีการฝึกความจำโดยการให้วางของไว้แล้วขี่ควาย 1 รอบ แล้วค่อยกลับมาหาของที่วางเอาไว้ และเมื่อจบขั้นตอนการบำบัดแล้ว จะมีการให้ขอบคุณครูฝึก ขอบคุณควายโดยการให้หญ้า และให้เด็กๆ ร่วมรับประทานขนมกันก่อนที่จะแยกย้าย ทำให้เป็นกิจกรรมที่ช่วงสร้างสังคมให้กับเด็กได้ดียิ่งขึ้น
หลังจากการเข้าร่วมโครงการแล้ว พบว่าเด็กทุกคนมีการพัฒนาที่ดีขึ้น สื่อสารได้ดีขึ้น มีความเป็นกันเอง กล้าแสดงออก ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีสมาธิในการทำกิจกรรมได้ต่อเนื่องนานขึ้น และมีการตอบสนองความรู้สึกกับควายและครูฝึกดีขึ้น
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันผลแน่นอนของกระบือบำบัดอย่างเป็นทางการ แต่ถ้ามีการวิจัยและพัฒนากระบือบำบัดต่อไปก็จะมีประโยชน์กับเด็กมาก ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกบำบัดทางใด เพราะเด็กแต่ละคนจะมีการตอบสนองที่แตกต่างกันออกไป