ขอเล่าอย่างภูมิใจว่าจุดกำเนิดของช้างบำบัดครั้งแรกของโลก ได้เกิดที่ขึ้นประเทศไทยเรานี่เอง โดยเริ่มต้นจากแนวคิดของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษเรื่องช้างและนักอนุรักษ์ช้างไทยได้พบว่านอกจากช้างจะเป็นสัตว์ใหญ่ที่เฉลียวฉลาดและมีความจำดีแล้ว ในเรื่องของความสัมพันธ์ ช้างยังจัดเป็นสัตว์สังคมที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และมีการดูแลซึ่งกันและกันคล้ายกับมนุษย์
ช้างไม่เพียงแต่เป็นสัตว์ที่สามารถฝึกให้ช่วยในการบำบัดได้ง่ายเท่านั้น แต่ยังเป็นสัตวที่สามารถดึงดูดความสนใจ ตอบสนองและแสดงปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับมนุษย์ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพิเศษที่ต่างไปจากสัตว์อื่น คือช้างจะตอบสนองกับมนุษย์ทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน และขนาดสมองของช้างหนักกว่าคนเรา 5-6 เท่า แล้วยังมีระบบการพัฒนาสมองคล้ายกับคน ทำให้เรียนรู้จากการถูกฝึกได้อย่างไม่มีจำกัด ทำให้สามารถพัฒนาให้เหมาะสมกับการบำบัดได้
ช้างชอบการสัมผัส ชอบการแสดงความรัก มักใช้งวงสัมผัสกับร่างกายเด็ก ตอบสนองการกอดและสัมผัสนุ่มนวลที่เราส่งไปมีเสียงที่ส่งผ่านความสุขทำให้เด็กรับรู้ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสให้กับเด็กได้ดีมาก
นอกจากนี้ช้างยังมีโครงสร้างร่างกายที่แข็งแรง สมดุล ทำให้เด็กมั่นใจและกล้าที่จะขึ้นนั่งขี่บนหลังช้าง และรู้สึกสนุกสนานไปกับกิจกรรมการพัฒนาทักษะการทรงตัว
นักกิจกรรมบำบัดออกแบบและปรับปรุงขั้นตอนของกิจกรรมให้เหมาะกับผู้เข้ารับการบำบัด โดยให้ช้างเป็นแรงจูงใจที่จะกระตุ้นความสนใจในกิจกรรม และด้วยความตัวใหญ่ขี้เล่นของช้าง ทำให้สามารถกระตุ้นความสนใจจากผู้เข้ารับการบำบัดได้มากเป็นพิเศษเลยทีเดียว
รูปแบบกิจกรรมในการบำบัดคือ ทดลองให้เด็กออทิสติก มาทำกิจกรรมร่วมกับช้างในหลากหลายกิจกรรม เช่น การรับส่งช้าง การป้อนอาหารช้าง การอาบน้ำและเล่นน้ำกับช้าง การขี่ช้าง การเล่นเกม สร้างงานศิลปะร่วมกับช้าง และส่งช้างกลับบ้าน
เมื่อจบกิจกรรมพบว่า ผลการบำบัดรักษามีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาก และถือว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาทุกด้าน เช่น การสัมผัส เพราะจากที่ไม่กล้าสัมผัสก็จะกล้ามากขึ้น มีการทรงตัวที่ดีขึ้น เด็กออทิสติกจะมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วมาก พบว่าสงบลง มีสมาธิมากขึ้น พร้อมให้ความร่วมมือ จนสามารถร่วมกิจกรรมต่อเนื่องได้ตลอดทั้งวัน