ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติไทย
เราคงเคยได้ยินคำพูดนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ก็น้อยคนจริงๆ ที่รู้ว่าช้างในประเทศไทยมีชีวิตการเป็นอยู่อย่างไร ใครเป็นคนดูแล กฎหมายเกี่ยวกับช้างคืออะไร มีหน่วยงานใดรับผิดชอบบ้าง คล้ายกับว่าเมื่อหมดคำว่าช้างเป็นสัตว์ประจำชาติแล้ว ทุกอย่างก็จบลงที่ตรงนั้น
เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งเกี่ยวกับช้างและวงการสัตวแพทย์ไทยในระดับโลก คือ มีทีมสัตวแพทย์และความร่วมมือจากหลากหลายอาชีพประสบความสำเร็จในการใช้โบท็อกซ์ในการรักษาภาวะแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อขากรรไกรของช้างพังรุ่งนภาเป็นครั้งแรกในโลก
โดยเราได้รับโอกาสจาก อ. สพ.ญ. ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ อาจารย์ประจำภาคเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สัตวแพทย์ผู้เป็นหนึ่งในทีมรักษามาให้สัมภาษณ์บอกเล่าถึงเรื่องราวความสำเร็จในการรักษาครั้งนี้ ที่มีที่มาจากความร่วมมือของหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นทีมสัตวแพทย์ ควานช้าง แพทย์ และหลากหลายหน่วยงานที่ร่วมมือด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือต้องทำให้ช้างเชือกนี้หายเป็นปกติให้ได้
หลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้ นอกจากความสำเร็จระดับโลกที่น่าภาคภูมิใจแล้ว บางทีเราอาจจะได้เห็นบางแง่มุมของชีวิตช้าง….
ที่ทำให้เรารู้จักพวกเขามากขึ้นมากกว่าคำว่า “ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติ” แต่เพียงอย่างเดียว
.
.
เรื่องเริ่มมาจากช้างปวดฟัน
ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
มีปางช้างเอกชนแห่งหนึ่งติดต่อมาทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่ามีช้างไม่กินอาหาร ทางทีมสัตวแพทย์ นำโดย อ. สพ.ญ. ดร.สุภาเพ็ญ จึงได้เดินทางไปที่ปางช้างแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปางเพื่อตรวจดูอาการและรักษา
“เราลองรักษาเบื้องต้นด้วยยาแก้ปวด แต่เขายังอาการไม่ดีขึ้น ไม่ยอมอ้าปากและกินอาหารอยู่ดี แม้ว่าจะมีอาการอยากอาหารคือหยิบอาหารขึ้นมา แต่ก็ไม่เอาเข้าปาก” สพ.ญ. ดร.สุภาเพ็ญ หรือ คุณหมอแอ้ม เล่าให้เราฟัง “เราเลยตัดสินใจบอกให้เขาพามารักษากับเราที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เพื่อวางยาซึมและสอดกล้องดูการอุดตันของอาหารที่หลอดอาหาร แต่พอตรวจจริงเมื่อเปิดปากก็พบภาวะฟันผิดรูป แล้วก็พบภาวะกล้ามเนื้อขากรรไกรแข็งเกร็ง เลยทำให้สอดกล้องเข้าไปไม่ได้”
เมื่อสอดกล้องไม่ได้เลยทำให้การรักษายากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าพังรุ่งนภาเชือกนี้ไม่ได้มีภาวะอุดตันที่หลอดอาหาร และเมื่อพิจารณาว่าช้างไม่ได้กินอาหารมาเกือบ 10 วัน เนื่องจากอาการป่วยแล้ว คุณหมอแอ้มจึงตัดสินใจส่งช้างกลับไปที่ลำปาง เพราะมีความพร้อมมากกว่าในกรณีที่จะต้องถ่ายเลือดหรือพลาสมาเพื่อการรักษาเพิ่มเติม เพราะที่ปางช้างมีช้างอยู่อีกหลายเชือกที่สามารถถ่ายเลือดให้ได้
.
.
หลากความพยายามในการรักษา
เมื่อกลับไปที่ลำปาง กระบวนการรักษาช้างก็ยังคงดำเนินการต่อและยังพบปัญหาเดิมคือช้างอ้าปากไม่ได้ จึงได้มีการวางยาสลบแบบนอน สอดท่อและไม่พบการอุดตันที่หลอดอาหาร แต่พบภาวะฟันผิดรูปและเหลือกอักเสบค่อนข้างรุนแรง
“เราได้ทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครขึ้นไปช่วยด้วย ซึ่งเขาเป็นหมอม้าที่ทำด้านฟัน เขาก็ไปช่วยกรอฟันให้ ตอนนั้นเราก็คิดว่าปัญหามันน่าจะเกิดจากฟันและเหงือกอักเสบนี่แหละ เลยรักษาด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อและยาแก้ปวดชนิดรุนแรงไป แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น ช้างยังอ้าปากไม่ได้อยู่ดี ล้างปากแล้วยังมีหนองออกมาตลอด ก็รักษามาตลอดจนเกือบเดือน จนไม่มีหนองแล้ว แต่เราก็แปลกใจที่ช้างยังไม่อ้าปากอยู่ดี”คุณหมอแอ้มกล่าวถึงความพยายามในการรักษาที่เชื่อว่ามาถูกทางแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
“เราพยายามตัดความเป็นไปได้ทีละข้อๆ ตั้งแต่เรื่องปวดฟัน เหงือกอักเสบ จนเราเริ่มมาสงสัยที่ขากรรไกร เลยลองเอกซเรย์ แต่ช้างตัวใหญ่เกินไปเข้าเครื่องเอกซเรย์ไม่ได้ เลยมาทำอัลตราซาวด์แทน แต่ก็ไม่พบความผิดปกติอะไรเลย พอถึงตอนนั้นเราก็เลยกลับมานั่งทบทวนใหม่ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง”
ในระหว่างที่สืบหาความเป็นไปได้เพิ่มเติม ทางทีมสัตวแพทย์ได้ให้การรักษาแบบประคับประคองด้านระบบประสาท โดยมีการทำเลเซอร์และฝังเข็ม และพยายามให้พังรุ่งนภาที่ยังอ้าปากไม่ได้ได้กินอาหารด้วยการคิดค้นสูตรสมูทตี้ คือ การเอาผลไม้ต่างๆ ผสมกับหญ้ามาปั่นแล้วให้ทางสายยาง เมื่อรักษาโดยประคองอาการไปจนถึงเดือนที่ 4
คุณหมอแอ้มและทีมสัตวแพทย์ก็พบว่าช้างเริ่มอ้าปากได้นิดหนึ่งแล้ว
.
.
โบท็อกซ์คือทางออกสุดท้าย
“หลายคนคิดว่าโบท็อกซ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสริมสวยเท่านั้น แต่จริงๆ มีการใช้โบท็อกซ์เพื่อการรักษาในมนุษย์เป็นปกติอยู่แล้ว คือฉีดโบท็อกซ์ที่กล้ามเนื้อเพื่อแก้ฤทธิ์พวกกล้ามเนื้อหดเกร็ง ส่วนในการเสริมสวยเป็นการประยุกต์จากหลักนี้คือฉีดแค่เฉพาะจุดในปริมาณน้อยๆ เพื่อลดริ้วรอยและทำให้ผิวหน้าเรียบตึง” คุณหมอแอ้มอธิบายด้วยรอยยิ้มเมื่อเราถามว่าโบท็อกซ์ไม่ใช่ใช้แค่ในการเสริมสวยเท่านั้นหรือ “ส่วนในสัตว์ เท่าที่เคยรีวิวมาก็เห็นมีม้ากับในแมวที่เคยใช้ แต่เราคิดว่าน่าจะพอประยุกต์ใช้กับช้างได้”
หลังจากที่พังรุ่งนภาอ้าปากได้นิดหน่อยแล้ว ทีมสัตวแพทย์ก็คิดว่าจะมีอาการดีขึ้นตามลำดับ พร้อมกับการรักษาด้วยการให้ยาคลายกล้ามเนื้อ แต่ปรากฏว่ายังไม่ค่อยได้ผล แม้ว่าจะอ้าปากได้มากขึ้นแต่ก็มากขึ้นเพียงแค่นิดเดียว พอจะกินผลไม้ได้ทีละผลเท่านั้น และสถานการณ์ยังแย่ลงไปอีกเมื่อคุณหมอแอ้มพบว่าถึงจะอ้าปากได้แต่การอ้าปากได้ไม่ 100% ทำให้เมื่อช้างเอางวงดันอาหารเข้าไปในปากแล้ว ระหว่างอาหารจะมีเศษอาหารคั่งอยู่ที่แก้มและเน่าอยู่ตรงนั้น
“พอพบว่ามีเศษอาหารเน่าอยู่ในปากช้าง เราเลยอัลตราซาวด์ซ้ำอีกครั้ง ทำให้เห็นว่ากล้ามเนื้อตรงขากรรกไกรของเขามีการฝ่อลีบและบางส่วนก็มีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเกาะยึดจากการที่ไม่ได้ขยับมาเป็นเวลานาน ตอนนั้นเรารู้เลยว่าจะหยุดการรักษาแค่นี้ไม่ได้เพราะว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเกิดปัญหาตามมาอีก”สัตวแพทย์หญิงกล่าวถึงปัญหาสุดท้ายที่ทำให้ทีมสัตวแพทย์ต้องมานั่งประชุมหาแนวทางรักษากันใหม่
.
.
หลังจากระดมความคิดเห็นและปรึกษากับอาจารย์หลายๆ ท่านแล้ว ก็ได้เกิดความคิดใหม่ขึ้นมาว่า ทำไมเราไม่ลองใช้วิธีการรักษาด้วยโบท็อกซ์ดูล่ะ
“ตอนแรกเราก็แอบอึ้งนิดหนึ่งอยู่เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วโบท็อกซ์สามารถไปยับยั้งสารสื่อประสาทของกล้ามเนื้อ ทำให้แทนที่กล้ามเนื้อจะหดเกร็งก็จะคลายตัว โดยเราจะฉีดเฉพาะมัดกล้ามเนื้อที่เกิดการหดเกร็งเท่านั้น มีการกำหนดตำแหน่งอย่างแม่นยำ”หมอแอ้มอธิบายถึงกระบวนการทำงานของโบท็อกซ์ในแง่ของการรักษาที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้
“ด้วยความที่การใช้โบท็อกซ์เป็นเรื่องใหม่มากในทางสัตวแพทย์ เราเลยปรึกษากับหมอคนด้วย โดยเราได้คุณหมอจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ มาช่วยแนะนำ แล้วแกก็ขึ้นไปที่ลำปางด้วยกันด้วย เพื่อช่วยกันคำนวณปริมาณของโบท็อกซ์ที่จะฉีดในช้างโดยเทียบกับที่ใช้ในคน เช่น ปกติคนต้องฉีดเท่านี้ยูนิต แล้วกล้ามเนื้อช้างคิดเป็นกี่เท่าของกล้ามเนื้อคน เราก็คำนวณไปตามนั้น”
หลังจากฉีดโบท็อกซ์ไปประมาณ 2 อาทิตย์ สัตวแพทย์ก็ได้เห็นกับตาตัวเองว่าพังรุ่งนภาสามารถอ้าปากและหยิบหญ้ามากินได้ด้วยตัวเอง
.
.
การรักษาช้าง…ที่เป็นเรื่องใหญ่กว่าช้าง
พวกเราออกเดินตามคุณหมอแอ้มไปพบกับพังรุ่งนภาตัวจริงที่กำลังจะเดินทางกลับปางช้าง จังหวัดลำปาง ในวันพรุ่งนี้ หลังเดินลัดเลาะบนพื้นที่ทดลองเพาะปลูกของมหาวิทยาลัยเกษตร วิทยาเขตกำแพงแสน ไปได้ซักพัก เราก็เห็นช้างตัวใหญ่ตัวหนึ่งกำลังเดินอยู่ท่ามกลางต้นไม้ คุณหมอแอ้มที่หยิบมะม่วงสุกผลหนึ่งที่ใส่ถุงติดมือมาด้วยยื่นให้พังรุ่งนภาที่เอางวงมารับแล้วส่งเข้าปากตัวเองอย่างว่องไว
“จริงๆ ตอนฉีดเสร็จมันยังไม่เห็นผลทันทีทันใด หลังจากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์ เราเริ่มเห็นว่าเค้าอ้าปากได้กว้างขึ้น แต่ก็ยังกินหญ้าสับอยู่นะ ยังไม่กล้าให้เขากินหญ้าท่อนใหญ่เพราะกลัวว่าจะติดคอ แต่ว่าพอผ่านไปสัก 2 อาทิตย์ เราเห็นว่าเขาเดินไปหยิบหญ้ามากินเอง หลังจากนั้นเลยบอกให้ควาญเอาหญ้าสับท่อนสั้นๆ ให้เขาลองกิน แล้วค่อยๆ เขยิบลักษณะอาหาร จนปัจจุบันเขากินแตงโมทั้งลูกได้แล้ว” สัตวแพทย์หญิงเล่าพร้อมรอยยิ้มเมื่อเห็นคนไข้ของตัวเองอาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
.
.
เมื่อเราถามว่าคิดว่าการรักษาช้างพังรุ่งนภาครั้งนี้ยากไหม คุณหมอก็พยักหน้าอย่างไม่ปิดบังว่าเคสนี้เป็นเคสที่ยากที่สุดเคสหนึ่งเท่าที่เคยเจอมาเลย เพราะจากการไปปรึกษาสัตวแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับช้างหลายๆ ท่าน ทุกคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเจอเคสที่ช้างอ้าปากไม่ได้นานขนาดนี้มาก่อนตลอดการทำงานระยะ 20-30 ปี
“เราคงต้องบอกว่าความสำเร็จครั้งนี้มาจากการผสมผสานความคิดของหลากหลายคนและหลากหลายศาสตร์มาผสมผสานกัน เพราะโดยแค่ตัวอายุรศาสตร์ทางด้านช้าง ยังมีคนศึกษาไม่ค่อยเยอะ โดยมากมักมาจากหนังสือ Text Book ของต่างประเทศเสียมาก ซึ่งส่วนใหญ่มีแต่โรคที่เราพบเจอประจำ เช่น ท้องอืด หรือปวดฟัน แต่โรคแบบที่ช้างอ้าปากไม่ได้แบบนี้เรายังแทบไม่เคยเจอ เราเลยต้องขวนขวายหาความรู้ ความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อที่จะเอามาใช้กับเคสนี้”
.
.
ช้างของทุกคน
หลังจากที่ได้ลองผลัดกันให้มะม่วงแก่ช้างพังรุ่งนภากินกันแล้ว เราพบว่าแม้จะได้ยินคำว่า “ช้าง” อยู่บ่อยตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อมาสัมผัสใกล้ชนิดขนาดนี้ กลับทำให้เรารู้สึกว่ารู้จักสัตว์ประจำชาติตรงหน้าแค่เพียงนิดเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อฟังเรื่องการรักษาจากประสบการณ์หมอแอ้มแล้ว ยิ่งทำให้เราคิดว่าโลกของช้างกว้างใหญ่กว่าที่เราเห็นมาก
คุณหมอแอ้มบอกกับเราต่อว่า จากประสบการณ์ที่เธอได้ดูแลเกี่ยวกับช้างมา ต้องบอกว่าน่าดีใจมากที่ทุกครั้งที่ต้องขอความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากใคร ทุกคนพร้อมมาช่วยโดยเต็มใจและไม่ลังเลเลยแม้แต่น้อย และไม่ใช่แค่สัตวแพทย์แต่รวมไปถึงสาขาวิชาชีพอื่นๆ ด้วย
“เวลารักษาไม่เคยมีใครคิดว่านี่คือช้างของใคร จังหวัดไหน แต่ทุกคนมองว่าจะต้องทำให้เต็มที่ที่สุด เพราะนี่คือช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย อย่างคราวนี้เราทีมแพทย์คนมาช่วย และก่อนหน้านี้ก็เคยมีเคสที่อ้อยติดคอช้าง วางยาตั้ง 5 – 6 ครั้ง ใช้ทุกเครื่องมือที่มีแล้วก็ยังเอาอ้อยที่ติดออกมาไม่ได้ เลยตัดสินใจไปปรึกษาทีมวิศวกร ให้เขาคิดหาเครื่องมือมาช่วยกันดึงออกมาได้สำเร็จ หรือศาสตร์การวางยาสลบก็ต้องไปขอความร่วมมือจากองค์การสวนสัตว์ให้มาช่วยวางยาให้ เพราะเขามีความชำนาญมากกว่าเรา”สัตวแพทย์หญิงเว้นจังหวะหยุดคิดพลางทอดสายตาไปยังช้างตรงหน้าที่เดินไปรอบๆ อย่างสบายอารมณ์
“ประสบการณ์จากเคสนี้ ทำให้เรารู้ว่าเรามีทีมที่เต็มใจและพร้อมที่จะช่วย ถึงแม้ต่อไปในอนาคตจะมีเคสที่ยากเข้ามา ถ้าทีมสัตวแพทย์และทุกสาขาอาชีพยังมีความร่วมมือร่วมใจกันอยู่แบบนี้ ก็ไม่น่ามีอะไรยากเกินความสามารถของเรา”
.
.
ขอขอบคุณความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย
สมาคมสหพันธ์ช้างไทย
สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์