Published on SPECIAL ISSUE
ตั้งแต่มีสุนัขรู้สึกว่าจะต้องรับผิดชอบชีวิตของสิ่งที่เรารักมากขึ้น แล้วก็ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนมีความเอื้อเฟื้อหรือโอบอ้อมอารีมากขึ้น

Big Dog Cafe : จากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า สู่เจ้าของคาเฟ่หมาใหญ่

เรื่องและภาพ : howl intern

เพราะความรัก ไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของคนรัก

เรื่องราวของ คุณยุ้ย – ชลธิชา ลาภผาติกุล ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยอกหักจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า แต่แล้วอาการดีขึ้นได้เพราะเธอตัดสินใจที่จะลองเลี้ยงสุนัข เมื่อเธอได้รับความรักจากนักบำบัดสี่ขาแล้วเธอจึงอยากส่งต่อความรู้สึกดีๆ ออกไปสู่สังคมจนทำให้เกิดเป็นคาเฟ่หมาใหญ่ที่สามารถบำบัดจิตใจลูกค้าได้

Big Dog Cafe หรือ คาเฟ่หมาใหญ่ใจดี ไม่ได้เป็นเพียงคาเฟ่สุนัขทั่วไปอย่างที่เราคิด แต่เป็นคาเฟ่ที่มีสุนัขกว่า 50 ตัว และมีสุนัขสายพันธุ์ที่หายาก ชนิดที่แทบจะหาไม่ได้เลยในประเทศไทย แถมยังมีค่าตัวรวมๆ กันแล้วหลายล้านบาทเลยทีเดียว เช่น โคมอนดอร์, อลาสกัน, พิคาดี้, โอลอิงลิชชีพด็อก, แอเรเดลทอเรีย ไปจนถึง อัฟกันฮาวด์ และอื่นๆ อีกมากมายหลายชีวิตที่เตรียมพร้อมจะมอบความสนุกสนานเพลิดเพลินให้กับคุณลูกค้า

ภายในร้านแบ่งออกเป็นสองโซน มีโซนคาเฟ่และโซนที่ให้ลูกค้าได้เล่นกับสุนัขโดยเฉพาะ คุณยุ้ยบอกว่าจะมีการจัดสุนัขเพื่อเล่นกับลูกค้าทั้งหมด 9 รอบ เริ่มจากสุนัขตัวเล็ก เพื่อเป็นการปรับพฤติกรรมของลูกค้าก่อน และเริ่มไล่ระดับความใหญ่ไปจนถึงพี่เบิ้มในระดับสุดท้าย

.

.

จุดเริ่มต้นของ Big Dog Cafe คาเฟ่หมาใหญ่ใจดี

“ที่มาของคาเฟ่นี้จริงๆ แล้ว ยุ้ยเป็นคนรักสุนัขอยู่แล้ว แล้วก็เลี้ยงชิสุไว้ 1 ตัว ตอนนี้น้องอายุ 15 ขวบแล้ว ช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา ยุ้ยอกหัก เครียดจะฆ่าตัวตายถึงขนาดที่ต้องไปปรึกษาหมอจิตเวช  หมอบอกว่าเราจำเป็นต้องหาอะไรทำสักอย่าง หรือหาอะไรที่มาทดแทน ถ้าไม่หาแฟนใหม่ก็ต้องมีอะไรทำหรือมีกิจกรรมสักอย่าง ยุ้ยก็เลยคิดว่ายุ้ยอยู่กับหมาแล้วมีความสุข บวกกับว่าไปดูหนังก็เลยอิน แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าเราอยากได้หมาตัวใหญ่ๆ ไว้ปกป้อง เพราะเรารู้สึกว่าคบกับใครมาก็ไม่มีใครซื่อสัตย์กับเรา ก็เลยซื้อแต่หมาใหญ่ไว้เลี้ยงเอง แต่พอเลี้ยงไปเลี้ยงมาก็เริ่มเยอะ พอเริ่มเยอะก็เลยอยากให้เขารู้สึกว่ามีคุณค่าในตัวเองด้วย ไม่ต้องนอนอยู่ในกรงหรือนอนอยู่ที่บ้านเฉยๆ ก็ไม่ได้ทำอะไร แล้วก็ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ก็เลยตัดสินใจเปิดเป็นคาเฟ่ซะเลย” 

.

.

“ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจเปิดให้เป็นสุนัขบำบัด เราแค่อยากให้คนเข้ามาซื้อขนม แล้วก็เล่นกับน้องหมา บังเอิญว่าเรามีสุนัขสายพันธุ์แปลกๆ เยอะ ยุ้ยก็คิดว่าอยากจะทำเป็น Interactive museum คือพิพิธภัณฑ์สุนัขที่มีชีวิต สมมติว่าลูกค้าอยากจะเลี้ยงหรือสนใจพันธุ์ไหน แม้กระทั่งศึกษาข้อมูลสายพันธุ์ของสุนัขที่ไม่เคยเห็นในไทย ส่วนมาจะเป็นสุนัขที่ลูกค้าบางท่านอาจจะมองว่าเราฟุ้งเฟ้อหรือเปล่า ทำไมสั่งแต่สุนัขนอก จริงๆ ไม่ใช่เลย จุดประสงค์ของยุ้ยก็คือแค่อยากรู้จักสุนัข แล้วก็อยากให้คนทั่วโลกได้เจอสุนัขที่ไม่ได้อยู่ในประเทศเขา คือเราจะรวมจากทุกประเทศเลยมาอยู่ที่นี่ เราคือที่ศึกษาสายพันธุ์สุนัขที่แรกในประเทศแน่นอน หรือเป็นที่แรกในโลกด้วย เพราะไปมาเกือบทั่วโลกที่ดังๆ เรื่องคาเฟ่สุนัข แต่สุนัขจะยังไม่แปลกหรือหายากเท่าไหร่ แล้วสุนัขแต่ละตัวของเราจะมีเรื่องเล่า หรือมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป”

จ้าบรูซ สุดยอดสุนัข X-Men

“สุนัขที่นี่น่าประทับใจทุกตัว แต่ถ้าเรื่องเล่าเยอะๆ ก็จะเป็น ‘บรูซ’ พันธุ์ Black Russian Terrier (BRT) คือสุนัขพันธุ์ที่เขาผสมในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเอาไปสู้กับนาซี ผสมมาจาก 17 สายพันธุ์ ใช้โครโมโซมที่ดี ดึงออกมาทุกสายพันธุ์แล้วมาผสมรวมกัน เหมือนมนุษย์ X-Men ก็ว่าได้ เขาจะเป็นสุนัขที่มีครีบ ขนกันน้ำ กรามเป็นร็อตไวเลอร์ โครงสร้างเป็นเกรทเดน ช่วงตัวเป็นเอเชี่ยน ออฟชาร์ก้า คือใหญ่ที่สุดในโลก สมองเป็นแอราเดลผสมโกลเด้น จะได้มาทุกอย่าง แม้แต่ความใจเย็น ความสุขุมจะได้มาจากไจแอนท์ ชเนาเซอร์ ความดุจะได้จากร็อตไวเลอร์ และอัลเซเชียน ตัวเขาจะอุ่นพิเศษ เพราะเป็น Rescue Dog ด้วย คือสามารถอยู่ได้ถึง 40 องศาฟาเรนไฮน์ คือเรามักจะมีเรื่องอะไรมาเล่าให้ลูกค้าฟัง พี่เลี้ยงที่นี่ก็จะต้องรู้ความเป็นมาของทุกๆ ตัว”

.

หน้าตาเจ้าบรูซตัวจริง

.

จุดที่รู้สึกว่าเขาดึงเราออกจากความเศร้าได้แล้ว

“ไม่แน่ใจว่ามันเปลี่ยนไปตอนไหน แต่พอเลี้ยงเขาไป หนึ่งเลยคือชีวิตยุ่ง มันไม่มีเวลาให้ทำอะไรอย่างอื่นเลย สองก็คือสุนัขเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าเขาซื่อสัตย์กับเรามากๆ แล้วก็รักเรา เรารู้สึกว่าเหมือนเวลากลับบ้านมาก็จะมีคนรออยู่เสมอ เขาไม่มาวุ่นวาย ไม่ทำอะไรให้เราหนักใจ มีแต่มอบความรักให้เรา เวลากอดเขาก็จะรู้สึกอบอุ่นเสมอ จากนั้นก็เริ่มค่อยๆ รู้สึกดีขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างก็เป็นเพราะธุรกิจที่ทำให้ไม่มีเวลาด้วย เครียดด้วย บวกกับความน่ารักของพวกเขา วันๆ เรามานั่งดูหรือใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแล้ว ยุ้ยว่ามันทำให้รู้สึกดีขึ้นได้เรื่อยๆ”

ความรู้สึกดีๆ ที่ได้รับมา ทำให้อยากส่งต่อไป

“ปกติยุ้ยไม่ใช่คนแบบนี้ เมื่อก่อนจะเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจอะไร สนใจแต่ตัวเอง อยากสวย อยากมีเงิน ไม่อยากช่วยใคร แล้วก็ไม่รู้จะช่วยทำไม คือไม่มีความรับผิดชอบต่อคนอื่นเลย ทำแต่งาน มีแฟนก็รักแต่แฟน ตั้งแต่มีสุนัขรู้สึกว่าจะต้องรับผิดชอบชีวิตของสิ่งที่เรารักมากขึ้น แล้วก็ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนมีความเอื้อเฟื้อหรือโอบอ้อมอารีมากขึ้น เวลาเห็นสุนัขจรจัดหรือสุนัขที่มีปัญหา เราก็เริ่มอยากช่วย แม้กระทั่งคน เวลาไปต่างประเทศเห็นคนไร้การศึกษาก็อยากช่วย เริ่มอยากที่จะสอน ทำให้เรารู้คุณค่าของชีวิตมากขึ้น รู้ว่าเวลาเราเลี้ยงเขามาดี เขาจะดีกับเรายังไง ทำให้เราอบอุ่นหรือเขาตอบแทนเรายังไง”

.

.

ความรู้สึกที่มีต่อของสุนัข

“สุนัขเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี นั่นคือเสน่ห์ของเขา และเขาจะสื่อสารกับเราด้วยการกอด การซบ เราได้รับรู้ว่าเขาให้ความรักเรามาโดยที่เราไม่ต้องร้องขอ เหมือนกับเราสื่อสารกับเขาได้ แล้วก็เป็นสัตว์ที่ดี มันพูดไม่ถูกเลย เราอยู่ด้วยแล้วก็รู้สึกดี เขากอดเราได้นะ กระโดดกอด ขอมือได้ เล่นได้ ทำหน้าส่ายหัวไปมา แววตาเขาจะสื่อสารออกมา ถ้าสมมติว่าเขาอยากให้เราเล่นด้วย หรืออยากได้ของเล่นอะไร เขาก็จะไปมองที่ของเล่นนั้น แล้วก็นั่งขอ เขาแค่พูดไม่ได้อย่างเดียว”

.

.

นักบำบัดสี่ขา

“สุนัขบำบัดมีผลมาก ที่ร้านลูกค้าเข้ามามีทั้งป่วยเป็นไบโพล่าและโรคซึมเศร้า เขาก็มาอย่างต่อเนื่องแล้วก็บอกว่า วันนึงหมอสั่งให้ลดยาได้ ในวันนี้เขาสามารถลดยาได้แล้ว รวมถึงอารมณ์ก็ดีขึ้นด้วย และสำหรับยุ้ยมันไม่ใช่แค่หายจากอาการซึมเศร้า การซึมเศร้าก็ยังคงมีอยู่บ้างไม่ได้หายไปทีเดียว มันจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่มีบางอย่างที่ดีมันกลับเข้ามาแทน หรือเข้ามาเพิ่มด้วย นั่นคือทำให้คนมีจิตใจที่โอบอ้อมอารีมากขึ้น อ่อนโยนมากขึ้น”

“ปัญหาทุกอย่างไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงหรอก ทุกอย่างมันผ่านไปได้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง คือยังไงก็ไม่ตาย อย่าไปจมอยู่กับมัน เศร้าได้แต่พยายามหายให้เร็ว แล้วคิดเหมือนที่ยุ้ยบอก เชื่อจริงๆ ว่าไม่มีอะไรที่คนเราจะผ่านไปไม่ได้”