กูปรี เป็นสัตว์จำพวกวัวป่าเช่นเดียวกับกระทิงและวัวแดง ตัวผู้มีเขากว้าง โค้งไปด้านหน้า ช้อนขึ้นด้านบน ปลายเขาแตกเป็นพู่ ส่วนตัวเมียเขาเล็กกว่าตัวผู้ มีรูปร่างคล้ายพิณ
กูปรีชอบออกหากินเป็นฝูง โดยฝูงหนึ่งประกอบด้วยตัวเมียและเด็กๆ ส่วนตัวผู้จะแยกเป็นกลุ่มชายล้วนต่างหาก พอย่างเข้าฤดูแล้งถึงจะกลับมารวมกับฝูงตัวเมีย ส่วนแหล่งที่อยู่อาศัยของกูปรีคือผืนป่าในเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณชายแดนไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนามเท่านั้น
หากเปรียบเทียบในกลุ่มวัวป่าด้วยกัน สถานการณ์ความอยู่รอดของกูปรีถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤตที่สุด โดย IUCN จัดให้กูปรีอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง (Critically Endangered) เนื่องจากผืนป่าที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของกูปรีเป็นรอยต่อของ 3 ประเทศอินโดจีน (ลาว กัมพูชา เวียดนาม) สมัยก่อนในช่วงที่เกิดสงครามอินโดจีน ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนของประเทศเหล่านี้ นิยมล่าสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหารและเพื่อการค้า กูปรีก็ถูกรวมอยู่ในสัตว์ป่ากลุ่มนั้น เพราะว่ากันว่าเนื้อของกูปรีมีรสชาติอร่อย อีกทั้งเขาของมันยังนำไปขายได้ราคาดีมาก นอกจากการล่าก็ยังมีการบุกรุกพื้นที่ป่าส่วนนี้เพื่อทำเกษตรกรรม และยังไม่รวมโรคระบาดจากวัวควายที่ชาวบ้านปล่อยเข้าไปหากินในป่าอันเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของกูปรีอีกด้วย
ปัจจุบันแม้เราจะไม่พบกูปรีในธรรมชาติแล้ว แต่ก็ยังได้ข่าวการพบเห็นเขาและกะโหลกของกูปรีถูกนำมาขายบริเวณชายแดนไทยกัมพูชากันอยู่เนืองๆ หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าถึงแม้กูปรีจะถูกค้นพบยากแค่ไหน แต่นั่นก็ยังไม่ยากเกินความสามารถในการล่าของมนุษย์อยู่ดี
จากรายงานการพบกูปรีในเทือกเขาพนมดงรักล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2525 หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีใครพบเห็นกูปรีอีกเลย แต่อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เทือกเขาพนมดงรักบางส่วนก็ยังเชื่อว่ากูปรียังมีเหลืออยู่ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันการพบเห็นที่แน่ชัด ด้วยความที่กูปรี วัวแดง และกระทิง มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก หากไม่ได้เห็นด้วยตาใกล้ๆ อย่างชัดเจน ก็ยากที่จะแยกความแตกต่างของสัตว์ 3 ชนิดนี้ออกจากกันได้ ประกอบกับที่กูปรีมีนิสัยหวาดระแวงและชอบซ่อนตัวอยู่แล้ว จึงทำให้การพบเจอกูปรีตัวเป็นๆ ในธรรมชาติยิ่งยากขึ้นไปอีก
แต่อาจจะดีแล้วก็ได้ที่เราไม่ได้พบกันอีก เพราะสำหรับกูปรีแล้ว อันตรายที่สุดอาจจะไม่ใช่สัตว์ป่าที่ดุร้ายตัวไหน หากแต่เป็นมนุษย์อย่างเรามากกว่า