คำว่า “แรด” เป็นคำที่ถูกใช้แซวเล่นกันในหมู่เพื่อนฝูงอย่างกว้างขวาง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า อันที่จริงคำๆ นี้ถูกเรียกตามพฤติกรรมของแรดตัวเมียที่มักจะเข้าหาแรดตัวผู้ก่อน ด้วยการส่งเสียงร้องเรียกและไล่ขวิดในช่วงฤดูผสมพันธุ์
แรดหรือ rhinoceros เป็นศัพท์กรีกโบราณที่มาจากการรวมคำว่า ρινός (จมูก) และ κέρας (เขา) จึงกลายเป็นจมูกเขาหรือนอแรดนั่นเอง เขาว่ากันว่านอแรดมีสรรพคุณเป็นยาชั้นเลิศ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเขาที่ว่านั้นเป็นใคร แต่คำกล่าวที่ไม่รู้ที่มาที่ไปนี้กลับเป็นเหตุให้เจ้าแรด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากช้าง ต้องตกเป็นเหยื่อของมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่มีอาวุธครบมือ ผู้ที่ต้องการเพียงแค่นอแรด อวัยวะที่จะว่าไปแล้วก็เทียบได้กับเส้นผมหรือเล็บของคนเท่านั้น ไม่ได้มีคุณสมบัติเป็นยาอย่างที่หลายคนเข้าใจกันแต่อย่างใด
ปัจจุบันในประเทศไทยไม่มีแรดหลงเหลืออยู่แล้วในธรรมชาติ (อันนี้หมายถึงแรดที่เป็นสัตว์จริงๆ นะ) แต่รู้หรือไม่ว่าครั้งหนึ่งเราก็เคยพบ “แรดชวา” ซึ่งเป็นแรดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดในโลก อาศัยอยู่ในแถบประเทศไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา แต่น่าเสียดายที่แรดชวาตัวสุดท้ายในแถบนี้เพิ่งถูกฆ่าตายไปในปี พ.ศ. 2553 และจากข้อมูลการสำรวจล่าสุดพบว่าเหลือแรดชวาอาศัยอยู่ที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เพียงจำนวนไม่ถึง 50 ตัวเท่านั้น
ดังนั้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) จึงได้กำหนดให้วันที่ 22 กันยายนของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์แรดโลก” ที่นอกจากแรดชวาแล้ว ยังรวมไปถึงแรดอีก 4 สายพันธุ์ทั่วโลก ได้แก่ แรดขาว แรดดำ แรดอินเดีย และกระซู่หรือแรดที่มี 2 นอ ซึ่งแรดที่กล่าวมาบางชนิดก็สูญพันธุ์ไปแล้วในธรรมชาติ บางชนิดก็เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากยังคงถูกล่าโดยมนุษย์อย่างต่อเนื่อง
การกำหนดวันแรดโลกขึ้นมานี้ ก็เพื่อกระตุ้นให้คนทั่วโลกเกิดความตระหนักเรื่องการลดจำนวนลงของแรด และประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนช่วยกันหยุดการซื้อขาย รวมถึงหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่มาจากแรด เพื่อเป็นการรักษาชีวิตของแรดทั่วโลกนั่นเอง