ในบรรดาสัตว์ป่าสงวนของไทย นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรหรือนกเจ้าฟ้าฯ ถือเป็นนกชนิดเดียวที่ถูกค้นพบครั้งแรกโดยคนไทย ในระหว่างที่กำลังศึกษาวิจัยเรื่องเส้นทางการอพยพของนก
อ้างอิงตามข้อมูลทางชีววิทยา นกเจ้าฟ้าฯ จัดว่าเป็นนกในกลุ่มเดียวกับนกนางแอ่น ซึ่งถ้าเราดูเผินๆ แล้ว อาจคิดว่าเป็นนกนางแอ่นขนาดใหญ่ทั่วไป แต่หนึ่งจุดที่แตกต่างจากนกนางแอ่นชนิดอื่นอย่างเห็นได้ชัด ก็คือขนสีขาวบริเวณรอบดวงตา ที่ช่วยขับให้ตาดูพองโตขึ้นมา ด้วยลักษณะดังกล่าวจึงทำให้ชาวบ้านนิยมเรียกนกชนิดนี้ว่า “นกนางแอ่นตาพอง” ส่วนชื่อเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรนั้น มาจากพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาฯ ผู้ทรงสนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยาตั้งแต่สมัยเยาว์วัย
นกเจ้าฟ้าฯ เป็นนกเฉพาะถิ่น เนื่องจากสามารถพบได้ที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เพียงที่เดียวในโลกเท่านั้น ในสมัยก่อน ทุกๆ ฤดูหนาวช่วงเดือนมกราคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ บึงบอระเพ็ดจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากนักปักษีวิทยาทั่วโลก ผู้ที่ล้วนแต่อยากมาเชยชมนกชนิดนี้ด้วยตาของตนเองสักครั้ง
แต่ถึงกระนั้นหากนับตั้งแต่วันที่มีการค้นพบครั้งแรก ต่อมาก็มีคนพบเห็นนกชนิดนี้อีก 3 ครั้ง รวมทั้งสิ้นเพียงแค่ 6 ตัวเท่านั้น จึงทำให้พักหลังๆ บึงบอระเพ็ดกลับมาเงียบเหงาอย่างที่เคยเป็น ด้วยเหตุนี้ IUCN จึงจัดให้นกชนิดนี้อยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)
ส่วนสาเหตุของการสูญพันธุ์นั้นก็เป็นเรื่องที่น่าขบคิด อาจจะเนื่องมาจากการบุกรุกแหล่งที่อยู่อาศัยเพื่อทำการประมง ทำนาข้าว และปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศของบึงบอระเพ็ด ประกอบกับความที่นกเจ้าฟ้าฯ มีลักษณะคล้ายนกนางแอ่นทั่วไปมาก จึงอาจทำให้ถูกจับรวมไปกับนกนางแอ่นชนิดอื่นๆ เพื่อขายเป็นอาหารหรือเป็นนกที่ใช้ปล่อยทำบุญในวัด
จนปัจจุบันนี้ถ้านับเวลาก็ร่วม 40 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ที่เราเห็นนกเจ้าฟ้าฯ ครั้งสุดท้าย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีรายงานการพบนกชนิดนี้อีกเลย และไม่มีใครรู้ว่านกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรยังมีอยู่หรือได้หายไป แล้วเหลือทิ้งไว้แค่เพียงตำนานนกนางแอ่นแห่งบึงบอระเพ็ดเท่านั้น