สถานะ : เหลือประมาณ 100 ตัว ในไทย
ลึกเข้าไปในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ที่ภาคใต้ของไทย ที่นี่คือบ้านหลังสุดท้ายของนกชนหิน นกเงือกดึกดำบรรพ์ที่มีหน้าตาแปลกประหลาดคล้ายหลุดมาจากยุคไดโนเสาร์
นกชนหินเป็นนกโบราณที่ได้ชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของนกเงือกทุกสายพันธุ์ของไทย มีจุดเด่นที่โหนกบนศีรษะที่แข็งและมีสีแดงสด รวมไปถึงบริเวณลำคอก็แทบไม่มีขน แต่เป็นหนังเปลือยเปล่าสีแดงคล้ำคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน ทำให้นกชนหินเป็นนกที่เพียงแค่มองก็รู้สึกได้ถึงความโดดเด่นจากความสวยงามที่ประหลาดแปลกตา
นอกจากหน้าตาแปลกแล้ว วิถีชีวิตของนกชนิดนี้ก็แปลกประหลาดด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ นกชนหินจะหาโพรงตามต้นไม้ ซึ่งต้องเป็นต้นไม้สูงใหญ่เท่านั้น นกตัวเมียจะเข้าไปอยู่ในโปรง ปิดปากโพรง จากนั้นนกตัวเมียจะฟักไข่และเลี้ยงดูลูกจนโตแล้วค่อยออกมา โดยมีพ่อนกคอยหาอาหารให้ ทำให้หากพ่อนกถูกยิง ก็มีโอกาสสูงที่แม่นกและลูกนกที่ปิดตัวเองอยู่ในรังก็จะอดอาหารจนตายตามไปด้วย
ด้วยความที่โหนกแข็งบนศีรษะของนกชนหินที่สวยงามสะดุดตาทำให้มีคนบางกลุ่มเชื่อว่านี่คือสัญลักษณ์ของความร่ำรวยมั่งคั่ง และเรียกขานกันว่าเป็น “งาช้างสีเลือด” และโศกนาฏกรรมของนกชนหินก็ได้เริ่มต้นขึ้นจากตรงนี้
นกชนหินถูกล่าในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก มีกลุ่มอนุรักษ์ต่างประเทศเริ่มสังเกตเห็นในประมาณปี ค.ศ. 2011 ว่ามีการนำหัวนกชนหินมาขายในตลาดมืด จึงได้เริ่มต้นค้นหาข้อมูลซื้อขาย จนในที่สุดพบว่าปัจจุบัน นกชนหินถูกล่ามากกว่า 6,000 ตัวต่อปีทั่วโลก ด้วยความต้องการ “งาช้างสีเลือด” ในตลาดมืดที่พุ่งสูงขึ้นมา ทำให้นายพรานแทบจะยิงนกเงือกทุกตัวที่พบเพียงเพื่อหวังว่านั่นจะเป็นนกชนหิน
ด้วยสถานการณ์ที่ร้ายแรงนี้เองทำให้ทาง IUCN ได้ยกระดับนกชนหินจาก “ใกล้ถูกคุกคาม” เป็น “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” ซึ่งเป็นการยกระดับแบบก้าวกระโดดขึ้น 3 ขั้น แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
น่าเสียใจที่แม้โลกของเราจะพัฒนาเทคโนโลยีมาไกลจนถึงขนาดนี้แล้ว แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่ยังมีความเชื่อเก่าๆ ที่ล้าสมัยอยู่ว่าชิ้นส่วนอวัยวะของสัตว์สามารถสร้างความมั่งคั่งยิ่งใหญ่ได้ ไม่ว่าจะนอแรด งาช้าง เขี้ยวพะยูน หรือแม้แต่ “งาช้างสีเลือด” ที่แท้จริงแล้วก็ถูกสร้างจากเคราตินที่แทบไม่ต่างอะไรจากเล็บมนุษย์เลย
ไม่ใช่เพื่อ “งาช้างสีเลือด” ….แต่ถึงเวลาที่เราต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อ “หยุดหลั่งเลือด” นกชนหินกันเสียที