สถานะ : ในไทยเหลืออยู่แค่ 60 ตัว ที่ห้วยขาแข้ง
คนไทยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับควายมาตั้งแต่โบราณกาล
ควายที่เราเห็นในการทำเกษตรกรรมต่างๆ นั้นคือควายบ้าน ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปหลายร้อยปี เราจะพบว่าควายบ้านได้สืบเชื้อสายมาจากควายป่า ที่มีอีกชื่อเรียกว่า “มหิงสา”
ควายป่ามีขนาดใหญ่โตกว่าควายไทยมาก ควายป่าหนักได้ 800-1200 กก. ในขณะที่ควายบ้านหนักเพียง 500 กก. เท่านั้น รูปร่างกำยำแข็งแรง วงเขาอาจกว้างได้ถึง 2 เมตร นับว่ากว้างที่สุดในสัตว์ตระกูลวัวควายทั้งหมดบนโลก ควายป่ามีนิสัยค่อนข้างดุร้ายและมีความปราดเปรียวผิดกับขนาดตัวเป็นอย่างมาก
โดยทั่วไปแล้วควายป่าจะอยู่รวมกันเป็นฝูงเฉพาะตัวเมียและเด็ก ส่วนควายป่าตัวผู้จะอยู่ตามลำพัง จะร่วมฝูงเฉพาะช่วงผสมพันธุ์เท่านั้น ซึ่งฝูงควายป่านี้เองที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักอนุรักษ์ธรรมชาติทุกคนที่เห็น บางคนถึงกับบรรยายไว้ว่าเมื่อฝูงควายป่าวิ่ง ก็ราวกับทั้งแผ่นดินสั่นสะเทือนเลือนลั่น
สมัยก่อนเราสามารถพบควายป่าได้ตั้งแต่เนปาล อินเดีย เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย แต่ในปัจจุบันพบได้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ภัยคุกคามของควายป่าที่สำคัญที่สุดคือการผสมข้ามพันธุ์กับควายบ้านที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ทำให้สายเลือดของควายป่าค่อยๆ ถูกกลืนหายไปเรื่อยๆ อีกทั้งพื้นที่หากินที่ใกล้กับพื้นที่เกษตรกรรมก็ยิ่งทำให้พวกมันถูกคุกคามแหล่งที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ รวมไปถึงการติดเชื้อโรคจากควายบ้านที่เหล่าควายป่าไม่มีภูมิต้านทานก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้จำนวนประชากรควายป่าลดลง
จำนวนประชากรควายป่าทั่วโลกเชื่อกันว่ามีไม่ถึง 4,000 ตัว และในประเทศไทย เราสามารถพบควายป่าฝูงสุดท้ายได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเท่านั้น โดยมีจำนวนเหลือเพียง 60 ตัวเท่านั้น และมีแนวโน้มที่อาจจะลดลงจนสูญพันธุ์ได้ในไม่ช้าแม้ว่าในปัจจุบันควายป่าจะเป็นสัตว์ป่าสงวนก็ตาม
ไม่มีใครรู้ว่าลมหายใจเฮือกสุดท้ายของต้นตระกูลควายไทยอันยิ่งใหญ่จะอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน
แต่ตอนนี้มันช่างรวยรินเต็มที…