วาฬเป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นกี่ครั้งก็ยังน่าทึ่งเสมอ
แม้บางคนจะเรียกว่าปลาวาฬและมีรูปร่างหน้าตาเหมือนปลา แต่จริงๆ แล้ววาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่ในทะเลเช่นเดียวกับโลมา วาฬมีหลายขนาดตั้งแต่ตัวเล็กไปจนถึงขนาดยักษ์ โดยวาฬที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 เมตร ที่พบในประเทศไทยมีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ดังนี้
1. วาฬสีน้ำเงิน : เป็นวาฬที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย มีขนาดโตเต็มวัยกว่า 29 เมตร หนัก 180 ตัน ทุกอย่างของวาฬชนิดใหญ่โตจนเหลือเชื่อ ตั้งแต่ลิ้นที่หนักเท่ากับช้าง 1 เชือก ขนาดปากกว้างจนคนสามารถเข้าไปยืนได้ถึง 100 คน หัวใจหนักเกือบๆ รถ 1 คัน และเสียงหัวใจเต้นสามารถดังได้ไกลถึง 3.2 เมตร นอกจากจะตัวใหญ่แล้ว วาฬสีน้ำเงินยังเป็นสัตว์ที่เสียงดังที่สุดในโลกอีกด้วย เสียงร้องของมันดังถึง 188 เดซิเบล สามารถได้ยินไกลกว่า 1.6 กิโลเมตร
แต่ถึงจะตัวใหญ่ขนาดนี้ พวกเขาก็เป็นยักษ์ใหญ่ใจดีที่กินแต่แพลงค์ตอนและสัตว์ขนาดจิ๋วในทะเลเป็นอาหารเท่านั้น มีอายุยืนถึง 80-90 ปี ในประเทศไทยมีโอกาสพบได้ที่หมู่เกาะสุรินทร์ ปัจจุบันถูกยกระดับเป็น 1 ใน 4 สัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทยแล้ว
.
.
2. วาฬฟิน : เมื่อโตเต็มที่ยาวกว่า 27 เมตร หนัก 90 ตัน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากวาฬสีน้ำเงินเท่านั้น เป็นวาฬที่ว่ายน้ำได้เร็ว จนได้รับฉายาว่าเป็น “สุนัขเกรย์ฮาวด์แห่งท้องทะเล” และด้วยหลังโค้งเพรียวทำให้มีอีกฉายาว่าเป็น “หลังมีดโกน” มีแพนหางที่แข็งแรงจนสามารถใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวเองจากวาฬเพชฌฆาตและฉลาม เคยมีประวัติว่าหางวาฬชนิดนี้เคยฟาดเรือจนแตกเป็นเสี่ยงๆ มาแล้ว
แต่ถึงกระนั้นวาฬฟินเป็นวาฬที่รักสงบ มีฟันเป็นซี่กรองและกินอาหารเช่นเดียวกับวาฬสีน้ำเงิน แต่อาจจะมีกินปลาตัวเล็กและหมึกร่วมด้วย อายุยืนถึง 90 ปี และที่คนไม่ค่อยรู้คือวาฬชนิดนี้เป็นญาติใกล้ชิดกับวาฬสีน้ำเงิน ทำให้บางครั้งเกิดการผสมข้ามพันธุ์จนเกิดเป็นลูกผสมวาฬสีน้ำเงินกับวาฬฟินได้
.
.
3. วาฬบรูด้า : เป็นวาฬที่พบในเขตร้อนหรือกึ่งร้อน ไม่ค่อยมีไขมันเหมือนวาฬอื่นๆ ทำให้ดูมีรูปร่างค่อนข้างเพรียว เมื่อโตเต็มที่ยาว 14—15 เมตร หนัก 12-20 ตัน ในสมัยแรกๆ มีฟันเป็นซี่กรอง กินอาหารพวกแพลงค์ตอนและปลาตัวเล็กๆ เช่น ปลากะตัก มีอายุยืนประมาณ 20 ปี
วาฬบรูด้าถือเป็นวาฬขาประจำของประเทศไทยที่พบเห็นได้ง่าย โดยสามารถพบได้เกือบตลอดปี โดยเฉพาะแถบอ่าวไทย จังหวัด สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี และฝั่งอันดามัน จังหวัดพังงาและภูเก็ต ปัจจุบันถูกยกระดับให้เป็น 1 ใน 4 สัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทยแล้ว
.
.
4. วาฬโอมูระ : วาฬชื่อญี่ปุ่นนี้ก็สามารถพบได้ในประเทศไทยเหมือนกัน ขนาดตัว 9-11.5 เมตร หนัก 20 ตัน มีฟันเป็นซี่กรอง มีจุดเด่นคือตรงหัวจะมีสันนูน 1 เส้น มักพบอยู่แค่ตัวเดียวหรือเป็นคู่ พบได้บริเวณชายฝั่งภาคใต้ มีภาพถ่ายสำรวจพบว่ามีวาฬโอมูระรวมฝูงกว่า 4 ตัว ใกล้บริเวณเกาะราชา จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันถูกยกระดับเป็น 1 ใน 4 สัตว์สงวนชนิดใหม่แล้ว
.
.
5. วาฬหลังค่อม : ขนาดโตเต็มวัย 11-17 เมตร หนัก 40 ตัน มีฟันเป็นแบบซี่กรอง อายุยืนกว่า 50 ปี มักอยู่แบบรวมฝูง 10-20 ตัวในแหล่งอาหาร ก่อนดำน้ำจะยกแพนหางขึ้นเหนือน้ำ แพนหางมีลวดลายใช้ระบุอัตลักษณ์ได้ ปกติอาศัยอยู่ในเขตหนาว จะมาเขตร้อนเพื่อนผสมพันธุ์เท่านั้น ในประเทศไทยเคยพบเห็นครั้งเดียวที่ เกาะปอ จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ. 2552
นอกจากนี้วาฬหลังค่อมยังเป็นวาฬที่ขึ้นชื่อเรื่องการช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ ที่ถูกฝูงวาฬเพชฌฆาตหรือฉลามล่าในทะเลอีกด้วย มีนักวิทยาศาสตร์พบว่าบ่อยครั้งเมื่อวาฬหลังค่อมเห็นแมวน้ำ ลูกวาฬพลัดฝูง หรือแม้แต่มนุษย์กำลังถูกโจมตี พวกมันจะเข้าไปช่วยและขวางทางเหล่านักล่าในทะเลจนทำให้การล่าไม่สำเร็จ นับว่าวาฬหลังค่อมจึงเป็นผู้พิทักษ์แห่งท้องทะเลอย่างแท้จริง
.
.
6. วาฬหัวทุย : เป็นวาฬมีฟันขนาดใหญ่ที่สุด โตเต็มที่เพศผู้ยาว 18.3 เมตร เพศเมียยาว 12 เมตร หนักประมาณ 57 และ 20 ตันตามลำดับ จุดเด่นคือหัวยาวกว่า 40% ของลำตัว มีฟันกลมใหญ่ 18-26 คู่ อายุยืนกว่า 70 ปี นอกจากนี้วาฬหัวทุยยังเป็นเป็นสัตว์ที่มีขนาดสมองที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย มีขนาดประมาณลูกบาสเก็ตบอล ใหญ่กว่ามนุษย์ถึง 7 เท่า
ความสามารถที่โดดเด่นที่สุดของวาฬหัวทุยคือการเป็นนักดำน้ำที่ดำได้นานและลึกที่สุดในโลก เชื่อกันว่าพวกมันดำน้ำได้นานกว่า 2 ชั่วโมง และลึกกว่า 3000 เมตรได้
โดยทั่วไปวาฬหัวทุยตัวเมียและลูกอ่อนอยู่รวมกันเป็นฝูง 10-80 ตัว ตัวผู้ที่อายุมากมักอยู่ตัวเดียว บางครั้งมีการลอยตัวอยู่คล้ายกับท่อนซุงลอยน้ำ อาหารหลักคือปลาหมึกน้ำลึก ที่บางทีวาฬหัวทุยอาจกินได้มากถึงวันละ 1 ตัน
.
.
สถานการณ์ของวาฬในประเทศไทยนับว่าต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด มีรายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากเสี่ยงสูญพันธุ์ จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบว่า เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ มีแนวโน้มการเกยตื้นเพิ่มขึ้น
โดยผลสำรวจ 3 ปีย้อนหลัง พบว่า สัตว์ทะเลเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 54% โลมาและวาฬ 41% และพะยูน 5% โดยการตายของวาฬก 20-40% มาจากอุบัติเหตุจากเครื่องมือประมง ส่วนอีก 2-3% เกิดจากการกินขยะพลาสติก และที่น่าเศร้าที่สุดคือประเทศไทยติดอันดับ 5 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก
ถึงเวลาที่เราจะต้องทบทวนการกระทำของตัวเองแล้ว
เพื่อทะเลไทย เพื่อพี่ใหญ่ที่น่ารักของเรา