กวางผากับเลียงผาต่างกันอย่างไร
หากมองเผินๆ แล้วกวางผากับเลียงผาที่ได้ฉายาว่าเป็น “ม้าเทวดา” ทั้งคู่นี้แทบไม่ต่างกันเลย มีเพียงขนาดที่กวางผาจะตัวเล็กกว่าเลียงผาเกือบครึ่งหนึ่งเท่านั้น และพวกมันทั้งคู่ยังเป็นสัตว์สงวนที่ใกล้สูญพันธุ์เหมือนกันอีกด้วย
กวางผาอาศัยอยู่แต่บนภูเขาหรือหน้าผาสูง มีสายตาดี พึ่งพาประสาทตามากกว่าการดมหรือการได้ยิน ในธรรมชาติด้วยความที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงยากมาก ทำให้พวกมันแทบไม่มีศัตรูตามธรรมชาติเลย แต่กลับกลายเป็นว่าพวกมันถูกล่าโดยมนุษย์และถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
เชื่อกันว่าตอนนี้มีกวางผาอยู่ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวรวมๆ กันแล้วประมาณ 288 ตัวเท่านั้น และที่สำคัญไปกว่านั้นคือกวางผามักอาศัยอยู่บนยอดดอยสูง เมื่อพื้นที่รอบๆ ถูกพัฒนาหรือทำการเกษตร ก็จะทำให้พวกมันเหมือนกับติดเกาะบนเขาสูงไม่สามารถเคลื่อนย้ายประชากรตัวเองไปยังเขาลูกอื่นได้ ส่งผลให้มีการผสมพันธุ์ในสายเลือดตัวเองและทำให้ทายาทรุ่นต่อๆ มาอ่อนแอลง
ด้วยเหตุนี้ ทางสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ตัดสินใจเพาะพันธุ์กวางผาขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนและนำสายเลือดใหม่เข้าไปเพิ่มความแข็งแรงให้กับเผ่าพันธุ์กวางผาในธรรมชาติ โชคดีที่กวางผาเองก็ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า เช่นเดียวกับ ละอง-ละมั่ง และนกกระเรียนไทย ในตอนนี้ทีมงานได้ปล่อยกวางผากลับคืนสู่ธรรมชาติไปแล้วกว่า 56 ตัว ที่อมก๋อย แม่เลา-แม่แสะ และที่ดอยอินทนนท์
การปล่อยกวางผาสู่ธรรมชาติจะใช้วิธี Soft Release คือ สร้างกรงสำหรับฝึกกวางผา และให้กวางผาปรับตัวในพื้นที่ป่าธรรมชาติก่อน ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อให้คุ้นเคยกับพื้นที่แล้วจึงปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
เป้าหมายสูงสุดของการอนุรักษ์กวางผาคือการรวบรวมสายเลือดกวางผาจากพื้นที่ต่างๆ ในดินแดนภาคเหนือ มาเพาะพันธุ์เพิ่มจำนวนเพื่อให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยหมุดหมายสำคัญคือการที่จะต้องเพิ่มจำนวนกวางผาในธรรมชาติให้ได้จนกระทั่งไม่มีการผสมพันธุ์ในสายเลือดของตัวเองอีกต่อไป
นี่คือการเพาะพันธุ์กวางผาที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในวันนี้…
ที่จะส่งต่อความหวังสู่วันพรุ่งนี้ด้วยเช่นกัน