ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทยมาอย่างยาวนาน
แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าและน่ากลัวที่ธุรกิจซื้อขายงาช้างก็ได้เติบโตขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน และไม่ใช่แค่ช้างในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยกำลังซื้อในตลาดมืดทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซื้อขายงาช้างจากแอฟริกาด้วย
ด้วยเหตุนี้ทาง CITES หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงได้จับตาดูประเทศไทยอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งในปี พ.ศ.2550-2555 ได้มีกลุ่มเครือข่ายต่อต้านการค้าสัตว์ป่า ร่วมมือกันจับกุมงาช้างแอฟริกาที่ลักลอบขนเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ตอนนั้นเชื่อกันว่าไทยน่าจะเป็นแหล่งการนำเข้าและส่งออกงาช้างผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในระหว่างนั้น CITES ได้มีการเตือนมาหลายครั้ง แต่สถานการณ์ยังคงไม่ดีขึ้น จนในที่สุดทาง CITES จึงได้ประกาศให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 8 ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำเนื่องจากเป็นประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการล่างาช้าง
ผลจากการขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์คือคำประกาศเตือนสุดท้าย หากไม่ยอมแก้ไขสถานการณ์ภายใน 1 ปี จะทำให้ถูกทาง CITES คว่ำบาตร ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าที่อยู่ในการควบคุมของ CITES ได้ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพืชและสัตว์ เช่น กล้วยไม้ เครื่องหนัง หรือไม้มีค่า
โดยประเทศไทยเคยถูกทาง CITES คว่ำบาตรไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2534 เพราะไม่ยอมทำรายชื่อสัตว์คุ้มครอง ผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตรครั้งนั้นคาดว่าเสียหายไปกว่า 2000 ล้านบาท
เส้นตาย 1 ปีก่อนถูกคว่ำบาตร ทำให้รัฐบาลไทยเริ่มต้นหันหน้ามาแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ได้มีการเปิดแผนปฎิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย (Thailand’s National Ivory Action Plan, NIAP) ได้การยกระดับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทำให้มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้มากมาย มีการปรับปรุงบทลงโทษจากจำคุก 1 ปี เป็น 3 ปี เพิ่มค่าปรับจากหลักหมื่นกลายเป็น 6 ล้านบาท และการเปิดให้ลงทะเบียนงาช้างของประชาชนที่เคยมีในการครอบครอง
ผลจากการดำเนินงานอย่างจริงจังในการกวาดล้างกลุ่มค้างาช้างในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2558 CITES ได้ปลดไทยลงจากบัญชีดำ 1 ระดับ เป็นอยู่ในบัญชีดำระดับ 2 (จากแต่เดิมอยู่ระดับ 1) สถานการณ์เริ่มค่อยๆ ดีขึ้น โดยทางไทยยังคงมุ่งมั่นแก้ไขปัญหา จนในที่สุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมานี้เอง CITES ก็ได้ปลดไทยออกจากบัญชีดำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจากช่วงเวลาที่ผ่านมา ทางการไทยได้ยึดงาช้างได้กว่า 4.5 ตัน ดำเนินการไปกว่า 43 คดี
หากกล่าวว่าช่วงเวลา 4-5 ปี ที่ผ่านมาเป็นสงครามงาช้างในประเทศไทยก็ไม่ผิดนัก ทว่าไม่ใช่การทำสงครามเพื่อช่วงชิงงาช้างกัน หากแต่เป็นการต่อสู้เพื่อทำลายการค้างาช้างผิดกฎหมาย ซึ่งในครั้งนี้พวกเราได้คว้าชัยชนะเอาไว้ได้ แต่พวกเราก็ยังคงต้องจับตาดูกันต่อไป พร้อมสอดส่องดูแลไม่ให้ขบวนการค้างาช้างผิดกฎหมายเริ่มงอกงามขึ้นอีก
นี่คือสงครามเพื่ออนาคตของช้างไทย….ของพวกเราทุกคน