ไม่รู้ว่าจะบอกเธอยังไงดี
แต่เธอเคยสังเกตไหมว่าฉันได้จากไปแล้ว
นอกจากสิ่งมีชีวิตที่เราทราบดีอยู่แล้วว่ากำลังจะสูญพันธุ์อย่างแรด พะยูน หรือกอริลล่า ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่เราคุ้นเคยและอยู่ใกล้ตัวเราก็กำลังลดจำนวนลงอย่างเงียบๆ จนหลายชนิดกำลังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์แล้วเช่นกัน
จากนี้คือเรื่องราวทั้งไกลตัวและใกล้ตัวของสัตว์ที่เราคุ้นหน้ามาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นยีราฟ ผึ้ง กบ แต่กลับกลายเป็นว่าตอนนี้พวกเขากำลังมีอนาคตที่ไม่สดใสนัก
อย่าให้พวกเขาจากไปโดยที่เรายังไม่ทันสังเกต
ตอนนี้เรายังมีเวลา….
ถึงจะเหลืออีกไม่มากแล้วก็ตาม
.
.
ยีราฟ : เมื่อน้องคอยาวที่อนาคตอาจไม่ยืดยาวนัก
เราคงเคยเห็นยีราฟมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะในหนังสือภาพ ในรายการสารคดี หรือในสวนสัตว์ทุกแห่งก็ล้วนแต่มียีราฟโชว์ตัวอยู่เสมอ
แต่ไม่เคยมีใครคิดว่าสัตว์คอยาวแห่งแอฟริกานี้กำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากมนุษย์ไม่ว่าจะด้วยภัยแล้ง ถูกยึดครองพื้นที่อยู่อาศัย และการล่าทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย
เมื่อปี ค.ศ. 1985 มีจำนวนประชากรยีราฟในทวีปแอฟริกากว่า 163000 ตัว แต่เมื่อปี ค.ศ. 2015 ยีราฟในธรรมชาติกลับเหลือแค่ 97500 ตัว ลดลงไปกว่า 40% เลยทีเดียว และจากการสำรวจพบว่าพื้นที่อยู่อาศัยของยีราฟก็ลดลงไปกว่า 95% อีกด้วย ทั้งการตัดถนนเพื่อให้ลดแล่นผ่านและการตั้งเสาไฟฟ้า
สาเหตุที่ยีราฟลดจำนวนลงส่วนใหญ่มาจากการล่าของมนุษย์เพื่อแข่งขันชิงถ้วยรางวัล รวมไปถึงยังมีการล่าเพื่อนำเนื้อมากินในแอฟริกา เพราะยีราฟเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่ทำให้มีเนื้อมากคุ้มค่าต่อการล่าแต่ละครั้ง และสุดท้ายคือความต้องการกระดูกยีราฟมาทำเป็นงานแกะสลัก ซึ่งนักอนุรักษ์กำลังเป็นห่วงว่าความต้องการกระดูกยีราฟแกะสลักที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้พวกมันกลายเป็น “งาช้าง” ชนิดใหม่ในตลาดมืดขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับงาสีเลือดที่ทำจากโหนกนกชนหิน
ความวิกฤติของยีราฟถูกบดบังไปด้วยจำนวนสัตว์อื่นใกล้เคียงที่วิกฤติกว่า เช่น แรด หรือช้าง ทำให้ไม่มีใครสนใจสำรวจประชากรยีราฟอย่างจริงจัง จนกระทั่งเมื่อมีการสำรวจในเมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนเริ่มเป็นกังวลต่อจำนวนที่ลดลงเร็วมากในรอบ 30 ปี
ด้วยปัญหานี้เอง ทำให้ทาง IUCN จัดยีราฟโดยรวมให้อยู่ในระดับ Vulnerable (ใกล้อยู่ในข่ายเสี่ยงสูญพันธุ์) แต่ในสายพันธุ์ย่อยยีราฟที่มีอยู่ทั้งหมด 8 ชนิดในโลก มีอยู่ 2 สายพันธุ์ ที่อยู่ในระดับ Critically Endangered (เสี่ยงสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ) และอีกสายพันธุ์อยู่ในระดับ Endangered (เสี่ยงสูญพันธุ์)
ในข่าวร้ายก็มีข่าวดี สำหรับคนรักยีราฟเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ทาง CITES ได้ประกาศคุ้มครองยีราฟเป็นครั้งแรก โดยจัดให้อยู่ในบัญชีระดับ 2 (Appendix II) ที่จะทำให้เพิ่มการคุ้มครอง และเข้มงวดต่อการล่า การส่งออกและนำเข้ายีราฟมากขึ้นมาก
ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตของน้องคอยาวอย่างยีราฟจะเป็นอย่างไร แต่เราก็หวังว่านี่จะเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่จะทำให้เรายังได้เห็นอนาคตของยีราฟดำเนินต่อไปยาวๆ เช่นเดียวกับคอของพวกเขาเหมือนกัน
.
.
นกแก้วมาคอว์ : สายรุ้งสีฟ้าที่จางหายแห่งแอมะซอน
นกแก้วมาคอว์นับว่าเป็นนกที่สวยงามมากชนิดหนึ่งบนโลก
ด้วยสีสันที่สดใสหลากหลาย ทำให้นกแก้วมาคอว์เปรียบได้ดั่งสายรุ้งกลางป่าแอมะซอนอันเป็นที่อยู่หลักของนกที่น่าทึ่งสายพันธุ์นี้ แต่สีสันที่สวยงามนี้เองเป็นภัยที่ทำให้นกแก้วชนิดนี้ถูกล่าอย่างผิดกฎหมายเพื่อนำมาขายเป็นสัตว์เลี้ยงทั่วโลก
นกแก้วมาคอว์มีทั้งหมด 17 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่โดดเด่นและหายากเป็นนกแก้วมาคอว์สีฟ้า 2 ชนิด คือ Spix’s Macaw และ Hyacinth Macaw
หากใครเคยดูหนังเรื่อง Rio เกี่ยวกับนกแก้วมาคอว์สีฟ้าจอมป่วนที่เดินทางข้ามโลกเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ตัวเอง ตัวเอกในเรื่องก็คือนกแก้ว Spix’s Macaw นั่นเอง โดย Spix’s Macaw เป็นนกแก้วมาคอว์ที่มีฟ้าเกือบทั้งตัวยกเว้นบริเวณหัวที่เป็นสีฟ้าซีดอมขาว ถือว่าเป็นนกแก้วมาคอว์ที่หายากที่สุด ณ ขณะนี้ ทางองค์กร BirdLife International ได้ออกสำรวจที่บราซิลตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 – 2018 แต่ยังไม่พบร่องรอยของนกชนิดนี้ในธรรมชาติ จึงคาดการณ์ว่า Spix’s Macaw อาจจะสูญพันธุ์ไปจากแหล่งที่อยู่ธรรมชาติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสาเหตุการสูญพันธุ์มาจากการถูกจับไปเป็นสัตว์เลี้ยงและการถูกทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยจากการทำการเกษตรเลื่อนลอย
ส่วน Hyacinth Macaw เป็นนกแก้วมาคอว์สีน้ำเงินอีกชนิด ตามตัวมีสีน้ำเงินกับเหลืองตัดกัน เป็นสายพันธุ์นกแก้วที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และซื้อขายกันในราคาที่แพงมาก ราคาขายของนกชนิดนี้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาทต่อตัว หากขายกันเป็นคู่อาจราคาพุ่งขึ้นสูงถึง 1.5 ล้านบาท แต่ถึงกระนั้น Hyacinth Macaw ในถิ่นที่อยู่ธรรมชาติกลับเหลืออยู่น้อยมาก เชื่อกันว่าเหลืออยู่ไม่ถึง 5,000 ตัว ในป่าแอมะซอน ที่น่าเศร้าคือด้วยราคาขายที่สูงมาก ทำให้ไข่ของนกแก้วชนิดนี้ตามธรรมชาติถูกตามล่าอย่างหนักไม่ต่างอะไรไปจากไข่ทองคำเพราะสามารถขายในตลาดมืดได้ไม่ต่ำกว่าใบละ 1 แสนบาท
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีข่าวดี คือ Spix’s Macaw และ Hyacinthth Macaw ยังพอมีเหลืออยู่ในกรงเลี้ยงและสามารถเพาะพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนได้ แต่ถึงกระนั้นการเพาะพันธุ์ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักและตราบใดที่เรายังไม่สามารถลดระดับการล่าและเพิ่มพื้นที่ที่อยู่อาศัยให้พวกเขาได้ นอกจากสายรุ้งสีฟ้าของแอมะซอนแล้ว นกแก้วมาคอว์สายพันธุ์อื่นก็อาจจะจากไปในอีกไม่กี่สิบปีต่อจากนี้เช่นกัน
.
.
หิ่งห้อย : ค่ำคืนที่ส่องสว่างคือสุสานของหิ่งห้อย
แสงกระพริบดวงน้อยยามค่ำคืนกำลังหายไป
หิ่งห้อย แมลงตัวเล็กที่สามารถแปล่งแสงสีเหลืองวับวาวตอนกลางคืนกำลังมีจำนวนลดน้อยลงในธรรมชาติเป็นอย่างมาก หากยังพอจำกันได้ ในประเทศไทยสมัยก่อนเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เราสามารถพบหิ่งห้อยที่ริมน้ำได้ไม่ยาก แม้เป็นเขตเมืองก็ตาม แต่ในตอนนี้การพบหิ่งห้อยในเขตเมืองเป็นเรื่องที่พบได้ยากมาก และไม่ใช่แค่ที่ประเทศไทยอย่างเดียว หากแต่เหตุการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
แม้กระทั่งแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของไทยอย่างอัมพวา ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากชมหิ่งห้อยที่ต้นลำพูในธรรมชาติ ตอนนี้ก็กำลังลดจำนวนลงเรื่อยๆ ทั้งจากเรือหางยาวที่พานักท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากเป็น 170 ลำทำให้เกิดคลื่นกัดเซาะตลิ่งจนต้นลำพูตาย จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก ควันพิษและเสียงเครื่องยนต์จากเรือ ก็ทำให้สิ่งแวดล้อมเริ่มเสื่อมโทรมลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนหิ่งห้อยด้วยกันทั้งสิ้น
ที่น่าสนใจมากๆ คือ การวิจัยจากคุณอัญชนา ท่านเจริญ อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้นำหิ่งห้อยที่เพาะพันธุ์ขึ้นในห้องทดลองมาให้จับคู่ผสมพันธุ์กันในความสว่างระดับต่างๆ พบว่ายิ่งมีแสงสว่างเพิ่มขึ้นตอนกลางคืนจะทำให้หิ่งห้อยจับคู่กันน้อยลงและใช้เวลาจับคู่นานมากขึ้น จากปกติ 30 นาที เป็น 5-7 ชั่วโมง ดังนั้นค่ำคืนที่ส่องสว่างในเขตเมืองจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หิ่งห้อยลดจำนวนลงเรื่อยๆ รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวอย่างอัมพวา หากไม่มีการดูแลจัดการให้ดี นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าตำนานหิ่งห้อยตลาดน้ำแห่งนี้อาจจะหายไปในอีกแค่ 5-10 ปีต่อจากนี้
ปัญหาหิ่งห้อยไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย เพราะที่จีนเองก็มีการจับหิ่งห้อยเพื่อนำมาขายอีกด้วย เว็บไซต์ Taobao.com เว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดังของจีนได้ออกมาประกาศแบนการซื้อขายหิ่งห้อยในเว็บทั้งหมดโดยที่ไม่สนใจที่มาของหิ่งห้อยว่าจับมาหรือเพาะพันธุ์ขึ้นเองเพื่อเป็นการปกป้องแมลงหายากชนิดนี้ ที่จีนมีการซื้อขายหิ่งห้อยเพื่อใช้ไปประดับในงานรื่นเริงและงานเทศกาลต่างๆ เพื่อแสดงถึงความสุขและความฝัน ซึ่งส่งผลทำให้ชาวบ้านตระเวนไปไล่จับหิ่งห้อยมาขายจนหลายคนห่วงว่าถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ หิ่งห้อยจะสูญพันธุ์ในอีกไม่ช้า
ปัญหาหิ่งห้อยลดจำนวนลงกำลังเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าหิ่งห้อยกว่า 2000 ชนิด กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งปัญหาหลักมาจากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงและการใช้ยาฆ่าแมลง
ในอนาคตที่ดูจะมืดมิดสำหรับหิ่งห้อยตัวน้อย ถึงเวลาที่เราต้องเป็นแสงความหวังให้กับพวกเขาบ้างแล้ว
.
.
ม้าลาย : ก่อนชื่อนี้จะเป็นแค่ชื่อทางข้ามถนน
หลายคนอาจแปลกใจว่าม้าลายก็กำลังจะสูญพันธุ์ด้วยอย่างนั้นหรือ
คำตอบคือทั้งใช่และไม่ใช่ แม้ว่าเราจะรู้จักกันในชื่อม้าลาย แต่ในเหล่าม้าลายเองก็มีการแยกย่อยสายพันธุ์ออกไปอีกหลายชนิด ม้าลายส่วนใหญ่ยังคงมีจำนวนมากในธรรมชาติและยังไม่ลดจำนวนลงจนใกล้สูญพันธุ์ มีเพียงแค่ม้าลาย 2 ชนิดเท่านั้นที่กำลังอยู่ภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ คือ Grevy’s Zebra และ Mountain Zebra
Grevy’s Zebra ตอนนี้พบได้แค่ในเคนย่าและเอธิโอเปียเท่านั้น พวกมันเคยมีประชากรกว่า 15000 ตัว ในปี 1970 แต่ในปัจจุบันเหลือแค่ 2800 ตัวเท่านั้น ม้าลายสายพันธุ์นี้เป็นม้าลายที่มีขนาดใหญ่และมีลายสีดำที่แคบกว่าม้าลายสายพันธุ์อื่น ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ม้าลายชนิดนี้ลดจำนวนลงคือพื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารถูกคุกคามจากการทำปศุสัตว์ โดยมีการปล่อยฝูงสัตว์จำนวนมากเล็มกินหญ้าในทุ่งกว้างจนทำให้หญ้าเติบโตไม่ทันพอเป็นอาหารให้กับเหล่าม้าลายที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
อีกปัญหาหนึ่งคือภัยแล้งที่ตอนนี้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ม้าลายต้องเดินทางไกลขึ้นเพื่อหาแหล่งน้ำและส่งผลให้พวกมันเสี่ยงต่อการถูกสัตว์นักล่าโจมตีมากขึ้น ทำให้ประชากรม้าลายพันธุ์นี้ที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งเหลือน้อยลงเข้าไปอีก
Mountain Zebra เป็นม้าลายที่พบได้ในประเทศแอฟริกาใต้ แองโกล่า และนามิเบีย สาเหตุที่ม้าลายสายพันธุ์นี้ลดจำนวนลงมาจากการทำสงครามของมนุษย์ในพื้นที่ โดยสงครามทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร และส่งผลให้คนในเขตพื้นที่นี้หันมาล่าม้าลายเพื่อเอาเนื้อ จนทำให้ประชากรของม้าลายพันธุ์นี้ลดลง คาดว่าตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 9000 ตัว
ม้าลายอาจเป็นตัวอย่างที่ดีในการรีบอนุรักษ์และป้องกันสัตว์ที่น่าทึ่งนี้ก่อนที่พวกเขาจะลดจำนวนลงจนหายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากฝีมือมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม โดยที่เรายังไม่ทันทำอะไรได้เลย
อย่างน้อยที่สุดคงจะดีถ้าเราได้เห็นม้าลายยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งทุ่งหญ้าทวีปแอฟริกามากกว่าเป็นเพียงแค่ชื่อทางข้ามถนนสีขาวดำเท่านั้น
.
.
ผึ้ง : หากผึ้งหายไปจากโลก, มนุษย์ก็เช่นกัน
ผึ้งเนี่ยนะกำลังจะสูญพันธุ์
จะไม่ให้ตกใจได้อย่างไร เมื่อแมลงที่อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ และได้ยินชื่อมาตั้งแต่เด็กจนโต รวมไปถึงเป็นผู้สร้างน้ำผึ้ง ของหวานที่นำมาใช้ปรุงอาหารและขนมหลายชนิด จะหายไปจากโลกนี้แล้วอย่างนั้นหรือ
ปรากฎการณ์ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกหวาดวิตกว่าผึ้งจะสูญพันธุ์นั้นเกิดขึ้นปี ค.ศ. 2006 โดยมีคนเลี้ยงผึ้งชาวเพนซิลเวเนียจนถึงฟลอริดาได้ออกมารายงานว่าผึ้งที่ตนเลี้ยงหายไปเป็นจำนวนมากโดยที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
จากนั้นระหว่างปี ค.ศ. 2006-2007 ได้มีเหตุการณ์ผึ้งหายไปดังกล่าวเป็นจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะทวีปอเมริกาเหนือ รวมไปถึงยุโรปอีกหลายประเทศ ซึ่งปริมาณผึ้งที่หายไปนั้นหายไปตั้งแต่ 30%-90% เรียกได้ว่าบางพื้นที่แทบจะไม่มีผึ้งหลงเหลืออยู่ให้เห็นเลย
ปรากฎการณ์ผึ้งหายไปนี้ นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า Colony Collapse Disorder (CCD) เป็นเหตุการณ์ประหลาดที่อยู่ดีๆ ผึ้งงานได้หายตัวไปอย่างลึกลับ เหลือไว้แค่เพียงนางพญาผึ้งกับผึ้งพยาบาลแค่ไม่กี่ตัว เมื่อไม่มีผึ้งงานก็ทำให้รังผึ้งล่มสลาย เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ในสมัยก่อนแล้ว เพียงแต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่เกิดวิกฤติรุนแรงเท่าในปี ค.ศ. 2006-2007 เพราะปกติ CCD เกิดขึ้นจะทำให้ผึ้งหายไปแค่ประมาณ 20% เท่านั้น
ที่นักวิทยาศาสตร์เป็นกังวลเป็นเพราะว่าผึ้งคือนักผสมเกสรดอกไม้หลักของโลก พืชพันธุ์กว่า 70% บนโลกนี้สามารถสืบพันธุ์ได้เพราะมีผึ้งคอยช่วยผสมเกสรให้ ดังนั้นหากผึ้งหายไปจะทำให้มนุษย์ขาดแหล่งอาหารจากพืชจำนวนมากทันทีและตอนนี้เรายังไม่มีหนทางการผสมเกสรทดแทนผึ้งที่ใช้งานในวงกว้างได้จริงอีกด้วย
สาเหตุของ CCD มีอยู่หลากหลายทฤษฎีมากๆ บางคนเชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัสในแมลงบางตัวที่เป็นโรคระบาดทำให้ผึ้งตายในวงกว้าง บางคนก็เชื่อว่าเกิดจากการใช้ยาฆ่าแมลงของเกษตรกร บางคนก็คิดว่าเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป หรือบางทีอาจเกิดจากทั้งหลายสาเหตุนั้นรวมกันก็ได้
แต่ที่น่าสนใจคือหลังเหตุการณ์ CCD อย่างหนักในปี ค.ศ. 2006-2007 แล้ว หลังจากนั้นก็ยังเกิด CCD ตามมาอีกเรื่อยๆ เพียงแต่ไม่รุนแรงเท่า แต่ถึงกระนั้นก็ยังรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต นักเลี้ยงผึ้งคาดการณ์ไว้ว่าผึ้งไม่ควรหายไปเกิน 20% ถึงเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ แต่หลังจากปี ค.ศ. 2006 เป็นต้นมาก็ยังไม่เคยมีปีไหนเลยที่ผึ้งหายไปน้อยกว่า 20%
ผึ้งถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญของระบบนิเวศในการสร้างสมดุลและขยายพันธุ์พืช ดังนั้นหากผึ้งหายไปย่อมหมายถึงระบบนิเวศที่เรารู้จักจะล่มสลายในไม่ช้า ถึงขนาดที่ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า
“หากผึ้งหายไปจากโลก มนุษยชาติก็จะเหลือเวลามีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ 4 ปี”
.
.
กบ : การสูญพันธุ์จากโลก 4.0
หลังฝนตก โลกของเราอาจไม่ได้ยินเสียงร้องอ๊บๆ อีกแล้ว
กบเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่อาศัยอยู่บนโลกมานับร้อยล้านปี พวกมันสามารถแม้กระทั่งเอาชีวิตรอดจากการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่คร่าชีวิตไดโนเสาร์มาแล้ว แต่ตอนนี้ประชากรกบทั่วโลก โดยเฉพาะที่ปานามากำลังถูกคุกคามอย่างหนักจนพวกมันอาจจะมีชีวิตไม่รอดในโลกใบบนี้
กบหลายชนิดที่ปานามา โดยเฉพากบสีทองปานามา เกิดเหตุการณ์ประหลาดคือตายลงอย่างฉับพลันจำนวนมาก จนคนในพื้นที่บอกว่าจากที่เคยเห็นกบสีทองปานามาจำนวนมากที่ลำธารเมื่อ 20-30 ปีก่อน ตอนนี้กลับแทบไม่เห็นอีกต่อไปแล้ว ผลจากการสำรวจของนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ที่ลงพื้นที่พบว่าสิ่งที่ฆ่ากบนั้นคือเชื้อราที่มีชื่อว่า Batrachochytrium dendrobatidis
แต่เชื้อราจะฆ่าล้างบางกบได้จริงๆ หรือ ด้วยความสงสัยนักวิทยาศาสตร์ได้สืบต่อพบว่าเชื้อราชนิดนี้ก็มีอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือและแอฟริกา แต่กบทั้งสองที่ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติ แต่ทำไมกบที่ปานามาและข้างเคียงไปจนถึงยุโรปถึงได้ตายเพราะเชื้อรานี้กัน
คำตอบก็คือกบที่ทวีปอเมริกาเหนือและแอฟริกานั้นได้เติบโตมาพร้อมๆ กับเชื้อรามรณะนี้ และค่อยๆ ปรับตัวอยู่ร่วมกับมันมาเรื่อยๆ นับแสนปีจนเชื้อราชนิดนี้ทำอะไรมันไม่ได้ และเชื้อราพวกนี้ก็ไม่สามารถแพร่กระจายได้เร็วขนาดข้ามทวีปได้
แล้วเชื้อรา Batrachochytrium dendrobatidis มาถึงปานามาได้อย่างไร
คำตอบก็คือจากโลกยุคใหม่ เมื่อโลกเชื่อมต่อถึงกันด้วยเครื่องบินและเรือเดินทางที่ทำให้เดินทางข้ามโลกในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำให้มีการขนส่งทั้งคนและสัตว์ชนิดต่างๆ มากมาย รวมไปถึงกบจากทวีปอเมริกาไปยุโรป และกบจากแอฟริกาไปยังปานามาด้วย ซึ่งในโลกแห่งการวิวัฒนาการการเคลื่อนย้ายข้ามทวีปนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมากและต้องใช้เวลานับล้านปี
ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เมื่อเชื้อรามรณะชนิดนี้จะปนเปื้อนสู่ดินแดนปานามาจะคร่าชีวิตกบท้องถิ่นที่ไม่มีภูมิต้านทานเลยจำนวนมาก จนตอนนี้กบชนิดนี้เหลืออยู่เพียงแค่ในศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเมืองเอลบาเย (EVACC) เท่านั้น
เชื่อกันว่ากบในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังหายไป ราว 40 % ของกบสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งหมดในโลกที่เรารู้จัก ด้วยภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นี้เอง ทำให้เมื่อปี 2008 ทาง องค์การสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก (WAZA) ได้กำหนดให้ปีนั้นเป็นแห่งกบ เพื่อช่วยให้คนทั่วไปตระหนักและสนใจต่อชะตากรรมของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดนี้
เพราะถ้ากบหายไปจากโลก….ต่ออีกไม่นานก็อาจจะถึงคิวของเราได้ด้วยเหมือนกัน