เสียงของฉัน…ส่งไปถึงใครบ้างไหม
เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในปี 1989 เมื่อ Bill Watkins นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล จากสถาบัน Woods Hole Oceanographic Institution (WHOI) สามารถบันทึกเสียงประหลาดที่มีคลื่นความที่ 52 เฮิร์ตซ์ได้ เสียงนั้นดังอยู่พักหนึ่งก่อนที่จะหายไป ทางตัว Bill รู้สึกแปลกใจเพราะเสียงนี้คล้ายกับเสียงวาฬสีน้ำเงิน ทว่าความถี่มันกลับสูงกว่าเสียงที่วาฬสีน้ำเงินปกติใช้ร้องกันคืออยู่ที่ประมาณ 10-40 เฮิร์ตซ์
เขาใช้เวลาวิจัยและรวบรวมเสียงคลื่นความถี่ที่ 52 เฮิร์ตซ์นี้อยู่นาน ก่อนที่จะสรุปว่าต้นตอของเสียงนี้อาจจะเป็นวาฬตัวหนึ่งที่ส่งเสียงออกมาที่ความถี่ 52 เฮิร์ตซ์ ซึ่งคลื่นความถี่นี้เชื่อกันว่าวาฬตัวอื่นจะไม่ได้ยิน ทำให้วาฬตัวนี้ถูกสื่อทั่วโลกขนานนามทันทีว่าเป็นวาฬที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก จากความโด่งดังทั้งจากเรื่องราวสะเทือนใจและความแปลก ทำให้เรื่องนี้ถูกเล่าขานจนแทบกลายเป็นตำนานลึกลับที่ไม่มีวันแก้ได้
แต่จริงๆ แล้ว วาฬที่คลื่นความถี่ 52 เฮิร์ตซ์ตัวนี้โดดเดี่ยวจริงหรือไม่
มีนักวิทยาศาสตร์หลายคน โดยเฉพาะ Christopher Willes Clark จากมหาวิทยาลัย Cornell ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เขากล่าวว่าแม้คลื่นความถี่ 52 เฮิร์ตซ์ จะไม่ใช่ความถี่ปกติที่วาฬสีน้ำเงินสื่อสารกัน แต่วาฬสีน้ำเงินตัวอื่นรวมไปถึงวาฬหลังค่อมและวาฬฟินก็สามารถได้ยินคลื่นความถี่นี้ได้ คลื่นความถี่ 52 เฮิร์ตซ์ แค่เป็นเสียงที่แปลกกว่าปกติเท่านั้นเอง
หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมวาฬที่คลื่นความถี่ 52 เฮิร์ตซ์ ถึงได้ส่งเสียงที่ประหลาดออกไป คำตอบนั้นมาจากทฤษฎีจากทางนักวิทยาศาสตร์ที่คิดว่าวาฬที่เป็นต้นกำเนิดเสียงประหลาดนี้น่าจะเป็นวาฬลูกผสมระหว่างวาฬสีน้ำเงินและวาฬฟิน ทำให้โครงร่างไม่เหมือนวาฬปกติทั่วไป ซึ่งส่งผลต่อเสียงที่ออกมาอีกด้วย
แนวคิดนี้น่าสนใจเพราะเมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบและแพทเทิร์นของคลื่นเสียงแล้ว นักวิทยาศาสตร์พบว่าใกล้เคียงกับวาฬสีน้ำเงินมาก เลยคาดว่าอย่างน้อยที่สุด ส่วนหนึ่งของวาฬนตัวนี้น่าจะมีความคล้ายวาฬสีน้ำเงินอยู่พอสมควร แต่ก็ยังขาดหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนเพราะยังไม่เคยมีใครสามารถบันทึกเสียงของวาฬลูกผสมสองสายพันธุ์นี้ออกมาได้จริงๆ เลย
การตามหาวาฬที่คลื่นความถี่ 52 เฮิร์ตซ์ของเหล่านักวิทยาศาสตร์ยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งในปี 2010 ได้มีการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับเสียงแบบเรียลไทม์ที่ชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย และที่นั่นเองเสียงคลื่นความถี่ 52 เฮิร์ตซ์ก็ถูกตรวจจับได้อีกครั้ง ซึ่งผลจากการวิเคราะห์คลื่นเสียงอย่างละเอียดครั้งนี้พบผลลัพธ์ที่น่าตกตะลึงขึ้นอีก คือ ที่มาของคลื่นเสียงมีมากกว่าหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าอาจจะมีวาฬที่คลื่นความถี่ 52 เฮิร์ตซ์มากกว่า 1 ตัว และไม่ใช่แค่ 2 แต่บางทีอาจจะมีอยู่หลายตัวเลยก็ได้
แน่นอนว่านี่ยังเร็วไปที่จะด่วนสรุปว่ามีฝูงวาฬลูกผสมที่สื่อสารกันด้วยคลื่นความถี่ 52 เฮิร์ตซ์ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่อย่างน้อยที่สุดนี่น่าจะเป็นข่าวดีว่าวาฬที่ได้ชื่อว่าเป็นวาฬที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลกตัวนี้อาจจะไม่ต้องโดดเดี่ยวอีกต่อไป
แล้วในที่สุดเสียงที่ส่งออกไป….ก็อาจมีใครบางคนเข้าใจเสียที