นี่คือภูตแมวผู้ปรากฏตัวพร้อมเปลวไฟกลางสายฝน
แม้ว่าแมวกับกงล้อไฟดูจะเข้ากันไม่ค่อยได้ แต่ก็มีภูตแมวที่มีรูปลักษณ์แปลกประหลาดนี้ โดยภูตตนนี้มีชื่อว่า “คาชา” (Kasha) ซึ่งจริงๆ แล้วคาชาเองเป็นบาเกะเนโกะประเภทหนึ่ง มีที่มาของการเป็นภูตเหมือนกันคือครั้งหนึ่งเคยเป็นแมว เมื่ออายุมากขึ้น มีการบำเพ็ญตนสะสมพลังมาเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นภูต แต่ก็มีจุดที่แตกต่างกันอยู่ไม่น้อยเลย
เริ่มจากรูปร่างลักษณะภายนอกของคาชา คาชาจะไม่ได้ปลอมตัวเป็นมนุษย์ ยังคงมีรูปร่างหน้าตาเป็นแมวแต่เดินสองขาตลอดเวลาและมีขนาดตัวที่ใหญ่มากกว่าแมวปกติมากหรือบางทีก็อาจจะเท่ากับมนุษย์เลยทีเดียว และเอกลักษณ์ของภูตคาชานั้นก็อยู่ในชื่อของเจ้าตัวเอง โดยคำว่าคาชานั้นแปลว่ากงล้อไฟ เพราะเชื่อว่าตามตัวของคาชาจะมีเปลวไฟหรือวงแหวนไฟเผาไหม้อยู่นั่นเอง
แต่ไม่ได้มีเพียงลักษณะภายนอกเท่านั้นที่ต่างจากบาเกะเนโกะ ความสามารถและบทบาทของคาชานั้นมีความพิเศษกว่าบาเกะเนโกะมาก (รวมถึงน่ากลัวกว่าด้วย) โดยความสามารถดังกล่าวนั้นก็คือ “การขโมยศพมนุษย์” คาชาจะปรากฏกายมาขโมยมากพิเศษในช่วงที่มีฝนหรือพายุเข้าเป็นหลัก ถ้าถามว่าคาชาขโมยศพมนุษย์ไปทำอะไร บ้างก็ว่าคาชานั้นได้รับคำสั่งมาจากนรกให้นำพาศพที่ครั้งหนึ่งเคยทำบาปไปส่ง บ้างก็ว่าขโมยไปกิน หรือบางคนก็เชื่อว่าคาชาขโมยศพมาเพื่อใช้เป็นหุ่นเชิดของตนเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อไหน ภาพแมวยักษ์อุ้มศพกระโดดหนีในยามค่ำคืนกลางสายฝนก็ดูน่ากลัวไม่น้อยเลย
เพื่อไม่ให้ศพของคนที่เรารักหายไป หลายท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่นวิธีในการป้องกันคาชาต่างๆ กัน เช่น การวางใบมีดโกนป้องกันไว้ที่ฝาโลง การจัดงานศพหลอกที่มีเพียงหินบรรจุภายในโลงขึ้น หรือเพิ่มบทสวดสำหรับนักบวชที่ประกอบพิธีกรรม
ที่น่าสนใจคือความเชื่อเรื่องการป้องกันไม่ให้ภูตแมวคาชาเข้าใกล้ศพนั้น บังเอิญคล้ายคลึงกับความเชื่อของชาวตะวันตกบางที่ ชาวจีน รวมถึงชาวไทยเรานั่นคือการระวังไม่ให้แมวเข้าใกล้งานศพ หรือไม่ให้แมวกระโดดข้ามโลงศพ โดยเชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มความเฮี้ยน การฟื้นคืนชีพอย่างไม่ปกติ หรือการจากไปอย่างไม่สงบของผู้ล่วงลับ
ไม่อาจทราบได้ว่าการที่ความเชื่อเกี่ยวกับแมวและศพในประเทศต่างๆ ทั่วโลกนี้มีที่มาจากการพบเห็นตามนั้นจริงหรือไม่ แต่หากมองตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว เรื่องราวของภูตแมวคาชาอาจเกิดจากแมวที่ปกติก็มีสัญชาตญาณนักล่าและกินเนื้อเป็นอาหารอาจตามกลิ่นของศพมาและมีการกินเนื้อมนุษย์ได้ จนมีมนุษย์ไปพบเห็นเข้าแล้วกลายเป็นเรื่องเล่าสืบต่อมาจนเป็นภูตแมวคาชา หรืออาจเป็นกุศโลบายของคนในสมัยก่อนให้คนในงานศพระวังแมวเข้ามากระโดดข้ามสิ่งของหรือโลงจนหล่นเสียหายก็เป็นได้เหมือนกัน