ถ้าน้องแมวกลายเป็นขนมจะน่ารักขนาดไหนกัน
คราวนี้เราขอเปลี่ยนบรรยากาศมาในแนวงานเชิงคอนเซ็ปต์แฟนจาซีนิดๆ ด้วยการจินตนาการว่าถ้าขนมชื่อดังต่างๆ ทั่วโลกกลายมาเป็นน้องแมวแล้ว จะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน จะน่ารักน่าหม่ำยังไงบ้าง
กินข้าวอิ่มแล้ว…จะมาชิมขนมแมวบ้างก็ได้นะ
หลายคนอาจคิดว่าแพนเค้ก เป็นขนมของสหรัฐอเมริกา แต่จริงๆ แล้วทั่วโลกต่างมีขนมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับแพนเค้กอยู่เยอะมาก โดยแพนเค้กที่เรารู้จักกันดีเป็นแพนเค้กแบบสหรัฐอเมริกา ทำจากแป้งผสมกับนม ไข่ น้ำตาล และเนย ตีให้เข้ากันแล้วลงหยอดบนกระทะร้อนๆ นิยมกินกับน้ำเชื่อมเมเปิ้ลไซรัป
ส่วนในยุโรปก็มีแพนเค้กเช่นกันแต่ต่างชื่อเรียกกันออกไป บางคนก็นับว่าเครป (Crepe) ของฝรั่งเศสก็เป็นแพนเค้กชนิดหนึ่งเช่นกัน รวมไปถึงประเทศจีนก็มีขนมที่ทำจากแป้งผสมกับต้นหอมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับแพนเค้กเช่นกัน (ใช้ชื่อว่า Chinese Scallion Pancake) หรือโรตีจากอินเดีย
แม้กระทั่งขนมเบื้องของคนไทยก็มีลักษณะคล้าแพนเค้กมากเช่นกัน ส่วนในญี่ปุ่นก็มีการทำแพนเค้กเหมือนทางตะวันตกแต่กลับใช้ชื่อว่า Hot Cake แทน
ในปัจจุบันแพนเค้กที่กำลังได้รับความนิยมสูงมากๆ คือ แพนเค้กแบบซูเฟล่ หรือการนำไข่ขาวไปตีให้ฟูก่อนที่จะผสมกับแป้งและส่วนผสมอื่นๆ ก่อนนำไปหยอดกระทะ ทำให้ได้แพนเค้กที่นุ่มฟู บางเบา อร่อยมาก
ส่วนแพนแคทของเราจะนุ่มนิ่มน่าน้วยกว่าแพนเค้กซูเฟล่หรือไม่ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ
โมจิถือว่าเป็นขนมที่เรียบง่ายมากๆ เพราะทำมาจากข้าวญี่ปุ่นที่นำไปนึ่งแบบผ่านไอน้ำและนำมาตำจนเป็นก้อนแป้งเหนียวๆ จากนั้นนำมาแบ่งเป็นก้อนพอดีคำ จะกินเปล่าๆ หรือว่าเลือกกินแบบจิ้มน้ำตาลผสมแป้งถั่วเหลือง หรือจิ้มโชยุก็ได้
เชื่อกันว่าโมจินั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนก่อนที่จะแพร่หลายที่ญี่ปุ่นและเกาหลีตอนช่วงศตวรรษที่ 10 โดยที่เกาหลีใช้ชื่อว่า ต๊อก นั่นเอง แต่เดิมเชื่อกันว่าโมจิเป็นขนมมงคลที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและประเพณีสำคัญๆ เท่านั้น แต่เมื่อถึงช่วงศตวรรษที่ 18 ขนมโมจิเริ่มเป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่นทั่วไปเพราะว่าทำได้ง่ายและให้พลังงานสูงเลยเป็นที่นิยมทำกินกันทั่วไป
ต่อมาโมจิได้มีการพัฒนาโดยกินกับถั่วแดงบดหวาน และได้มีการนำไปสอดไส้ผลไม้ ชาเขียว หรือไส้รสชาติต่างๆ มากมาย จนกลายเป็นชนมชนิดใหม่ที่มีชื่อเรียกว่าไดฟุกุ และเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
เห็นแบบนี้แล้วอยากชิมเหมียวจิ เอ้ย โมจิ ซักคำกับชาเขียวจังเลยน้า
ชานมไข่มุกที่ใครหลายคนติดอกติดใจ (หรืออาจจะถึงขั้นเสพติด) เป็นเครื่องดื่มเลื่องชื่อที่มีต้นกำเนิดจากประเทศไต้หวัน
เชื่อกันว่าชานมไข่มุกเกิดขึ้นในช่วงยุค 1980 โดยมีจุดเด่นที่ลูกกลมๆ คล้ายสาคูเคี้ยวหนึบที่ทำมาจากแป้งมันสำปะหลังนี้อยู่ในเครื่องดื่มด้วย โดยชาวไต้หวันเรียกว่า Boba ส่วนคนไทยนิยมเรียกว่า “ไข่มุก”
โดยชานมไข่มุกสูตรดั้งเดิมนั้น จะเป็นชาดำไต้หวันร้อนๆ นำมาใส่นมข้นหวานและน้ำเชื่อมหรือน้ำผึ้งให้ได้รสหวานมันกลมกล่อม แล้วเติมไข่มุกที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังเพื่อเวลาดูดแล้วเคี้ยวหนึบหนับ
โดยหลังจากนั้นก็มีสูตรชานมไข่มุกขึ้นมาอีกมากมาย แต่ที่น่าสนใจคือไม่ว่าจะเป็นชานมไข่มุกสูตรไหนเราก็นิยมดื่มแบบเย็นมากกว่าแบบร้อนเสมอ
ส่วนชานมแมวไข่มุกเนี่ยไม่รู้ว่าจะกินชานม ไข่มุก หรือว่าแมวก่อนดีเลยน้า
ทีรามิสุเป็นขนมหวานอันเป็นเอกลักษณ์เลื่องชื่อของชาวอิตาเลียน บางคนถึงกับกล่าวว่าหลังอาหารมื้อใหญ่ที่ร้านอาหารอิตาเลียนต้องตบท้ายด้วยขนมาหวานชนิดนี้ ถ้าไม่ได้กินจะถือว่ามื้ออาหารไม่สิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ก็ว่าได้
คำว่า ทีรามิสุ เป็นภาษาอิตาเลียนแปลว่า ดึงฉันขึ้นไปสิ (Pick Me Up) หรือปลุกฉันที (Wake Me Up) อาจเป็นเพราะขนมชนิดนี้ประกอบด้วย ฟิงเกอร์บิสกิตแช่ในกาแฟรสเข้มจนชุ่ม แล้วจึงนำมาเรียงซ้อนสลับกับครีมที่ทำจากไข่แดง น้ำตาล และ ชีสมาสคาร์โปน ปิดท้ายด้วยการโรยหน้าด้วยผงโกโก้ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ความโดดเด่นของทีรามิสุ คือ เมื่อตักทานจะได้ทั้งรสขมของกาแฟ ความหอมหวานของครีมและโกโก้ และความนุ่มนวลของบิสกิต เรียกได้ว่ามีครบทุกรสในคำเดียว และด้วยปริมาณคาเฟอีนที่ไม่น้อย ทำให้เมื่อทานเข้าไปแล้วก็จะสดชื่น หายง่วง สมชื่ออีกด้วย
ต้นกำเนิดของทีรามิสุยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด บางคนเชื่อว่าขนมนี้มีต้นกำเนิดในศตวรรษที่ 17 จากพ่อครัวของเมืองทัสคานีที่คิดค้นขนมชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อต้อนรับ แกรนด์ดยุกโกซีโม ดี เมดีซี และได้รับความนิยมแพร่หลายต่อมา แต่ถ้ายึดตามบันทึกที่มีการลงลายลักษณ์อักษรชัดเจนแล้ว ทีรามิสุถือกำเนิดขึ้นในปี 1968 โดยร้านขนม Le Beccherie ในเมืองเตรวีโซที่อิตาลี
ทีรามิสุอาจมีความหมายว่าช่วยปลุกฉันที แต่ถ้าเป็นทีราเมี้ยวสุรับรองว่าปลุกคุณตั้งแต่ตีสี่เพื่อมาเทอาหารให้อย่างแน่นอน
มาการอง (Macaron) เป็นขนมสัญชาติฝรั่งเศส ที่คนไทยส่วนมากรู้จักกันดี แต่รู้หรือไม่ว่าขนมราคาแพงนี้ถือกำเนิดในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศฝรั่งเศสกำลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ อาหารมีราคาแพง
ด้วยเหตุนี้ทำให้มิชชันนารีชาวอิตาเลียนคนหนึ่งได้ทำอาหารประทังชีวิตด้วยการนำอัลมอนด์ ไข่ขาว และน้ำตาล ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายและราคาถูก มาบดและตีผสมรวมกันจนเป็นเนื้อเนียนแล้วเอาไปอบในเตาอบจนสุก
ด้วยรูปลักษณ์ที่คล้ายจานบินอันเล็ก รสชาติอร่อยหอมหวาน กรอบนอก แต่ด้านในกลับนิ่มและละลายในปาก แถมยังราคาถูกจึงทำให้ขนมมาการองเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างรวดเร็ว
จะเห็นได้ว่ามาการองยุคก่อนนั้นไม่มีไส้ ซึ่งต่อมา ปิแอร์ เออร์เม่ (Pierre Hermé) นักทำขนมหวานเลื่องชื่อได้ประยุกต์มาการองแบบดั้งเดิมมากลายเป็นมาการองที่เรารู้จักกันดี โดยการนำมาการอง 2 ชิ้นมาประกบกันแล้วทำไส้ตรงกลางจากผลไม้หลากหลายชนิด และมาการองของปิแอร์ เออร์เม่ นี้เองก็กลายเป็นมาการองที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
เอาล่ะ…จะชิมเหมียวการองสีอะไรน้า
บัวลอยถือเป็นขนมคู่กับคนไทยทั่วทุกภูมิภาคมานาน โดยแต่ละภาคจะมีสูตรบัวลอยที่แตกต่างกันออกไป ปกติบัวลอยถือว่าเป็นขนมที่ถูกใช้ในงานมงคลต่างๆ เช่น งานทำบุญเลี้ยงพระ งานมงคลสมรส และงานพิธีการต่างๆ
ในบรรดาขนมบัวลอยชนิดต่างๆ บัวลอยที่โดดเด่นคงหนีไม่พ้นบัวลอยเผือก ซึ่งทำมาจากนำแป้งมาผสมกับเผือกนึ่งบดละเอียด จากนั้นนำไปปั้นเป็นลูกกลมเล็ก ไปต้มจนสุกแล้วแช่น้ำเย็นพักไว้ จากนั้นก็ทำน้ำกะทิด้วยการเคี่ยวน้ำตาลปี๊บกับกะทิเข้าด้วยกัน เมื่อเข้ากันดีแล้วให้ใส่ลูกบัวลอยเผือกที่เตรียมไว้ คนให้เข้ากันเล็กน้อย ก็พร้อมทานได้เลย
ที่น่าสนใจคือในประเทศจีนก็มีขนมบัวลอยเช่นกัน โดยขนมชนิดนี้เชื่อมโยงกับงานเทศกาลใหญ่เทศกาลหนึ่งของจีน คือ เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย หรือ เทศกาลตังโจ่ย ซึ่งจัดขึ้นในวันที่กลางวันสั้นที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นวันเปลี่ยนเทศกาลสู่ฤดูหนาว โดยชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนจะทำขนมบัวลอยหรือขนมอี๋เพื่อไหว้ฟ้าดินและเจ้าที่ที่คุ้มครองให้สมาชิกในบ้านปลอดภัยและมั่งมีศรีสุข รวมไปถึงขอพรให้คุ้มครองปกปักษ์รักษาเช่นเดิมในปีต่อไปด้วย
แต่ขนมบัวลอยหรือขนมอี๋ของชาวจีนนั้นจะแตกต่างจากบัวลอยของไทย คือทำจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำเปล่าและปั้นเป็นลูกกลมเล็ก นิยมเป็นสีชมพูหรือขาว และกินกับน้ำเชื่อมแทนน้ำกะทิ
จะว่าไปคำว่าเผือกมักใช้กับสัตว์สีขาว แต่แมวบัวลอยเผือกนี่จะเป็นสีขาวหรือสีม่วงกันนะ